13 การเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์ที่ แม่ท้องต้องรู้

09 December 2017
96001 view

การเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์

ขณะตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆเกิดขึ้นมากมายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย โดยขณะที่ตั้งครรภ์ตลอด 9 เดือน ว่าที่คุณแม่จะมีอาการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้

1. เจ็บคัดเต้านมขณะตั้งครรภ์ 

จะมีอาการเจ็บคัดเต้านมมากกว่าการเจ็บคัดเมื่อใกล้จะมีประจำเดือนแต่ละเดือน มักเริ่มต้นเจ็บบริเวณใกล้หัวนม  ต่อมาสังเกตว่าเต้านมทั้งเต้าเต่งและคัดมากขึ้น  และขยายใหญ่ขึ้นนับแต่เดือนที่สองเป็นต้นไป  อาการเจ็บจะทุเลาเมื่อเข้าเดือนที่สาม  สีของหัวนมจะคล้ำกว่าเดิม  ลานข้างหัวนมจะมีสีคล้ำและขนาดใหญ่ขึ้น  เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นบางคนจะเห็นมีเส้นเลือดใกล้ผิวหนังของเต้นนมเด่นชัด ขึ้นอาการนี้เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ทำให้มีเลือดออกมาเลี้ยงมากขึ้น และต่อมน้ำนมขยายตัวมากขึ้น เพื่อเตรียมสร้างน้ำนมต้อนรับลูกที่จะเกิดขึ้นมา อาจต้องมีการใส่ยกทรงที่เหมาะสมเพื่อพยุงเต้านมที่โตขึ้นและน้ำหนักมากขึ้น โดยทั่ว ๆ ไป จะต้องเปลี่ยนยกทรงถึง 2 ครั้ง ในช่วงไตรมาศแรก และไตรมาศที่ 2

วิธีบรรเทาอาการ การเจ็บคัดเต้านมขณะตั้งครรภ์สามารถบรรเทาได้ด้วยการเปลี่ยนมาใช้เสื้อชั้นในคุณภาพดี เพราะเต้านมจะมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วถ้าไม่ได้รับการพยุงที่ดีพอเนื้อเยื่อเส้นใยยืดจะทำให้เต้านมหย่อนคล้อยและอาจทำให้เกิดผิวแตกลาย เมื่อได้เสื้อชั้นในที่มีคุณภาพดีควรคำนึงถึงขนาดของเสื้อใน เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า 1 ครั้งในช่วงตั้งครรภ์ ควรมีตะขอปรับอย่างน้อย 3 ระดับ อย่าสวมเสื้อชั้นในที่มีโครงลวดเนื่องจากทำอันตรายจากเต้านมที่กำลังขยาย ที่สำคัญคือเลือกเสื้อชั้นในที่สวมใส่เเล้วทำให้คุณสบายที่สุด ใส่ให้มีขนาดพอดีกับเต้านมที่ขยายขึ้น จะได้อุ้มน้ำหนักเต้านมได้ดี ซึ่งอาการเจ็บเต้านมนี้จะดีขึ้นภายหลังจากที่คุณแม่คลอดลูกและได้ให้นมเจ้าตัวเล็กค่ะ

2. ปัสสาวะบ่อยขณะตั้งครรภ์ 

การปัสสาวะบ่อยขณะตั้งครรภ์จะรู้สึกได้ชัดเจนขึ้น  หลังจากขาดประจำเดือนแล้ว 1-2 สัปดาห์ ไปจนถึง 12 สัปดาห์ เป็นเพราะมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นไปเบียดกระเพาะปัสสาวะให้มีปริมาตรรับปัสสาวะได้น้อยลง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนโลหิตที่มากขึ้นบริเวณอุ้งเชิงกรานทำให้ รู้สึกปวดปัสสาวะง่ายขึ้นกว่าปกติ จนทำให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยกว่าปกติ  จนอาจรู้สึกรบกวนการนอน

อาการนี้จะรบกวนผู้ตั้งครรภ์ไปจนถึง 3 เดือน  หลังจากนั้นจะเคยชินและมดลูกโตพ้นอุ้งเชิงกราน  ภาวะการกดทับกระเพาะปัสสาวะลดลง  อาการปัสสาวะบ่อยก็ลดลงด้วย จนถึงประมาณเดือนที่ 7-8 ของการตั้งครรภ์จะริ่มรู้สึกปัสสาวะบ่อยขึ้นอีก  เพราะขนาดของทารกที่โตขึ้น และส่วนหัวของทารกเริ่มเข้าสู่อุ้งเชิงกราน มีการเบียดกระเพาะปัสสาวะใหม่อีกครั้ง

3. อ่อนเพลียขณะตั้งครรภ์ 

สตรีตั้งครรภ์จะรู้สึกว่าอ่อนเพลียมาก เห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ใหม่ ๆ ซึ่งเกิดจากความเครียดของร่างกายในการปรับตัวจากการตั้งครรภ์  ต่อไปจะรู้สึกค่อย ๆ ดีขึ้น ดังนั้น สตรีตั้งครรภ์จึงควรมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น มีเวลางีบหลับหรือพักผ่อนเป็นระยะ ๆ ในตอนกลางวันบ้าง

4. แพ้ท้องขณะตั้งครรภ์ 

เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนง่าย ใจสั่น มือสั่น มีอาการกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย ประกอบกับมีอาการหิวบ่อยกว่าปกติ เวลาหิวอาจมีอาการต้องการอาหารรุนแรงกว่าธรรมดา จะสังเกตว่ามีความต้องการรับประทานอาหารบ่อยทุก 2-3 ช.ม. ถ้าไม่รับประทานอาหารเมื่อเริ่มหิว ปล่อยไว้นาน ๆ จะมีอาการเวียนศีรษะและอาเจียนง่ายเมื่อรับประทาน

อาการแพ้ท้องปกติ จะเป็นใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาการจะมากหรือน้อยเป็นคน ๆ ไป ไม่ทราบสาเหตุแน่นอน  แต่การพักผ่อนและการไม่ปล่อยให้ท้องว่างอาจช่วยได้  ถ้าเป็นมากอาจต้องใช้ยาช่วย

5. ตกขาวขณะตั้งครรภ์

อาการตกขาว คือ การมีสารคัดหลั่งออกมาทางช่องคลอดมากกว่าธรรมดา อาการนี้เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณอุ้งเชิงกรานและช่องคลอดมากขึ้น มีการเจริญและหลุดลอกของเซลล์ผิวในช่องคลอดมากขึ้น จึงมาตกขาวมาก ซึ่งถือว่าปกติ แต่ถ้าตกขาวนั้นมีสีที่เปลี่ยนไป เช่น เหลืองคล้ายหนอง สีออกเขียว หรือมีกลิ่นผิดปกติ หรือมีอาการคันแสบช่องคลอดร่วมด้วย แสดงว่ามีการอักเสบ ต้องปรึกษาแพทย์

สตรีตั้งครรภ์มีภาวะโอกาสให้เชื้อราเจริญง่ายขึ้น  ซึ่งเมื่อเป็นจะทำให้ตกขาวมากลักษณะเป็นน้ำหรือจับกันเป็นก้อนและมีอาการคัน จึงควรสังเกตดูและรีบรักษา เชื้อรานี้ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์แต่ทำให้รำคาญและโรคแทรกผสม

การดูเเล จะต้องใส่ใจในเรื่องการทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้นจนก่อให้เกิดเชื้อรา

6. สีผิวเปลี่ยนขณะตั้งครรภ์

ปกติจะมีสีผิวคล้ำขึ้น  จะมีรอยดำคล้ำในบางแห่งโดยเฉพาะที่หัวนม  ลานหัวนม  และเส้นกลางท้อง  รักแร้  คอ  ใบหน้า  ขาหนีบ  บางคนมีผิวแห้ง  บางคนหน้ามันขึ้น  อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ จางลงหลังคลอด บางคนมีอาการผิวแตกเป็นลายที่หน้าท้องและเต้านม ลายสีแดงหรือน้ำตาลเหล่านี้เกิดจากการเพิ่มน้ำหนักกระทันหัน อาจมีอาการคันหน้าท้อง เกิดจากหน้าท้องขยายเร็วจากการขยายตัวของมดลูกและความหนาของหน้าท้อง เพราะอ้วน  อาการเหล่านี้จะเป็นมากเฉพาะรายไป 

การป้องกัน คือ  บำรุงความชุ่มชื้นกับผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ  หลีกเลี่ยงการเพิ่มน้ำหนักมากเกินไป หรืออาจใช้ยาทาแก้คันร่วมด้วบ

7. ท้องผูกขณะตั้งครรภ์ 

จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์จะทำให้ทางเดินอาหารทำงานเคลื่อนไหวได้น้อยลงกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ อาจทำให้มีท้องอืด อึดอัด บางคนมีการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนที่หน้าอก อาการท้องผูกจะเป็นมากในคนที่ไม่ชอบรับประทานผัก-ผลไม้ ถ้ามีการถ่ายอุจจาระวันเว้นวันและไม่รู้สึกอึดอัดมาก ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าท้องผูกมากกว่านั้น วิธีการแก้ไขเบื้อต้น คือ รับประทานยาระบาย และระยะยาว คือ รับประทานผักผลไม้ทำให้มีกากอาหาร อุจจาระจะได้ไม่แข็งยาระบายควรเลือกชนิดที่ไม่ดูดซึมเข้าร่างกาย จะได้มั่นใจว่าไม่ไปรบกวนทารกในครรภ์ การท้องผูกมาก ๆ ทำให้เป็นริดสีดวงทวารได้ ซึ่งโรคริดสีดวงทวาร จะมีอาการเจ็บและคันบริเวณรอบทวารหนัก และอาจสังเกตพบเลือดออกเมื่อถ่ายอุจจาระ

การป้องกัน คือ ดื่มของเหลวอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักสด ผลไม้ หรืออาหารเช้าที่ทำจากธัญพืชทั้งเมล็ด รวมถึงการออกกำลังกายบ่อยๆ จะช่วยกระตุ้นทางเดินอาหาร

8. มีเลือดออกตามไรฟันขณะตั้งครรภ์

บางคนที่ตั้งครรภ์จะมีการงอกของเหงือกมากกว่าปกติ  เมื่อเคี้ยวอาหารบางครั้งไปโดนกระทบกระเทือนทำให้มีเลือดออกได้ แต่ในคนที่สุขภาพเหงือกและฟันไม่ดี เช่น มีการอักเสบเหงือกอยู่ก่อนแล้ว มีหินปูนเกาะก็ทำให้เลือดออกง่ายขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อมีอาการเลือดออกตามไรฟันควรให้ทันตแพทย์ตรวจดู ถ้ามีหินปูนเกาะหรือเหงือกอักเสบก็รักษาได้ขณะตั้งครรภ์

การป้องกัน คือ หลังรับประทานอาหารควรแปรงฟันหรือบ้วนปากทุกครั้ง ใช้ไหมขัดฟันกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างเป็นประจำทุกวัน พยายามรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส เช่น นม ไข่ ปลาเล็กปลาน้อย เพื่อให้ฟันแข็งแรง

9.ปวดหลังขณะตั้งครรภ์

เมื่อตั้งครรภ์หลายเดือนมากขึ้น จะมีอาการปวดหลัง เนื่องจากน้ำหนักของทารกและมดลูกถ่วงที่ด้านหน้า ทำให้ความสมดุลของร่างกายเปลี่ยน ทำให้หลังต้องรับน้ำหนักแอ่นกว่าธรรมดา จึงทำให้เกิดอาการปวดร้าวและปวดเกร็ง นอกจากนี้ระหว่างการตั้งครรภ์ ข้อต่อของกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกราน มีน้ำเข้าไปแทรกมากขึ้นจากอิทธิพลของฮอร์โมน ทำให้มีการยึดติดกันน้อยกว่าปกติ การเคลื่อนไหวเร็วหรือรุนแรงจะทำให้เกิดอาการปวดได้ง่าย จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เมื่อคลอดแล้วอาการปวดหลังจะดีขึ้นตามลำดับ

การป้องกัน คือ  สวมรองเท้าส้นเตี้ยตลอดช่วงตั้งครรภ์ การออกกำลังบริหารร่างกายสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ การนั่งและยืนควรอยู่ในท่าที่ถูกสุขลักษณะ คือ หลังตรง ไหลตรง ไม่นั่งหลังงอหรือห่อไหล เเละไม่ควรยกของที่มีน้ำหนักมาก ควรใส่ใจในท่าทางเสมอโดยเฉพาะเมื่อยกของขึ้นจากพื้น

10.บวมที่มือ เท้า ข้อเท้าและเส้นเลือดขอดขณะตั้งครรภ์

อิทธิพลของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ทำให้มีการอมน้ำในอวัยวะต่างๆ  ของร่างกายมากขึ้น ที่ปลายมือ  หน้าแข้ง  และเท้า  มักเป็นส่วนที่ห้อยลงต่ำทำให้น้ำไหลลงมากองบริเวณนั้น  ทำให้รู้สึกบวมกว่าอวัยวะอื่น ๆ ยิ่งอายุครรภ์แก่มากขึ้นเท่าไร  อาการบวมจะมากขึ้นนอกจากนั้นผนังเส้นเลือดดำซึ่งจะบีบไล่เลือดที่ ทำงานแล้ว กลับไปเข้าหัวใจก็จะขยายกว่าธรรมดาด้วย  ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดได้  ถ้าไม่มากหรือไม่มีอาการเจ็บปวดก็ไม่เป็นไร  แต่ถ้าเป็นมาก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อการแก้ไข

การป้องกัน  คือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การสังเกตว่าบวมคือรู้สึกตึงที่อวัยวะนั้น เมื่อกดที่ผิวหนังแล้วปล่อยมีรอยบุ๋มค้างอยู่นาน ถ้ามือบวมมักจะรู้สึกตอนเช้าพอสาย ๆ อาการบวมจะทุเลา  อย่าพยายามฝืนกำมือแรงๆ ขณะที่บวมจะทำให้ข้อนิ้วมืออักเสบได้  ต่างกับที่ขาจะเป็นมากตอนบ่ายและเย็นตื่นเช้าจะทุเลา มักบวมในคนที่นั่งหรือยืนนานๆมากกว่าคนที่เดินเคลื่อนไหวบ่อยๆอาการบวมก็เกิดจากโรค ครรภ์เป็นพิษด้วย  ดังนั้น  เมื่อฝากครรภ์แพทย์ก็จะคอยดูด้วยว่าบวมมากผิดปกติหรือเปล่า (ให้ดูเรื่องครรภ์เป็นพิษ)ตามลิงค์

11. ตะคริวขณะตั้งครรภ์ 

มักจะเริ่มเป็นเมื่ออายุครรภ์เลย 20 สัปดาห์ขึ้นไป เกิดจากความล้าของกล้ามเนื้อ หรือร่างกายอาจกำลังขาดแคลเซี่ยม ตะคริวมักเกิดที่ขา น่องและมือ

การป้องกัน คือ การบริหารร่างกายสม่ำเสมอ การรับประทานแคลเซี่ยมเสริมให้เพียงพอ ซึ่งแคลเซี่ยมมีมากในอาหารจำพวกนม ถั่ว ปลา เมื่อเป็นตะคิวให้เกร็งข้อเท้าให้เท้ากระดกมาข้างหน้าเพื่อยืดกล้ามเนื้อน่องหรือเดินไปมาด้วยเท้าเปล่า ลองยืดขาและเท้า บีบนวดกล้ามเนื้อที่เกร็งเบาๆให้คลายตัว

12. ปวดที่ข้อมือด้านนิ้วโป้งขณะตั้งครรภ์ 

คือมีอาการเจ็บที่ข้อมือเมื่อเกร็งออกแรงนิ้วโป้งเวลายกของหรือเวลาบิดข้อ มือ มักเป็นมากชัดเจนตอนเช้า เกิดจากการบวมของเส้นเอ็นบริเวนข้อมือทำให้เกิดการเสียดสีมากกว่าปกติยิ่ง ถ้าฝืนเคลื่อนไหวออกแรงมากหรือบีบนวดมากจะยิ่งมีอาการมากและเป็นเรื้อรังได้ เมื่อหลังคลอดอาการจะดีขึ้นเอง

การปฎิบัติ คือ ถ้ามีอาการปวดที่ข้อมือให้ออกแรงที่นิ้วโป้งหรือข้อมือข้างนั้นพอประมาณ ใช้ยาทาแก้ปวดลดบวมทานวดเบาๆ ได้

13. เปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจขณะตั้งครรภ์ 

ความคิดวิตกกังวนเรื่องสุขภาพของทารก การเจริญเติบโตของทารก การคลอด การเลี้ยงดูลูก และความรู้สึกไม่สบายกายรวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเครียด จึงทำให้แสดงอาการอื่น ๆ ทางอารมณ์ออกมา เช่น ความวิตกกังวล ใจน้อย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย 

การป้องกัน คือ  เตรียมตัวให้พร้อมกับการเป็นคุณแม่ ควรศึกษาความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์การดูแลครรภ์ การปรึกษาหารือกับคนในครอบครัว รวมทั้งการได้รับการดูแลที่ดีจากแพทย์ขณะตั้งครรภ์

อาการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถ้าว่าที่คุณแม่มีอาการเหล่านั้นบ่อยๆ หรือรุนแรงมากขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจเช็คอย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ กว่าจะเป็นคุณแม่ ไม่ง่ายเลยจริงๆค่ะ Mamaexpert เป็นกำลังใจให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกท่าน มีสุขภาพครรภ์ที่สมบูรณ์ แล้วพบกันในโอกาสต่อไปค่ะ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Edutorial Team

อ้างอิง :

  1. คู่มือการตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่มือใหม่.Dr.Jane MacDougall.อาการที่พบบ่อยในแม่ตั้งครรภ์.หน้า 46-48.(2555).กรุงเทพ:สำนักพิมพ์เอ็มไอเอส จำกัด.[ค้นคว้าเมื่อ 2 ตุลาคม 2560]
  2. BabyCenter.BabyCenter Medical Advisory Board."Pregnancy symptoms: Top 11 early signs of pregnancy".Last updated: May 2017.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/hhEJfn.[ค้นคว้าเมื่อ 2 ตุลาคม 2560]