ทำหมันชาย
ทำหมันชาย คืออะไร
ทำหมันชาย มีกี่วิธี อะไรบ้าง
- การใช้มีดกรีดเปิดผิวหนังบริเวณถุงอัณฑะเหนือท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ 1-2 แผล แล้วทำการผูกและตัดท่อทางเดินของเชื้ออสุจิทั้ง 2 ข้าง จากนั้นเย็บปิดผิวหนังที่กรีด
- การใช้เครื่องมือเจาะบริเวณผิวหนังเพื่อหาท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ แล้วทำการผูกและตัดท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ แผลจะมีขนาดเล็กกว่าวิธีแรก จึงไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผล
ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำหมันชาย
คู่สมรสโดยเฉพาะเพศชายที่เลือกคุมกำเนิดด้วยการทำหมันชายนั้น ควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำหมันชายก่อนการตัดสินใจ และจะช่วยลดความวิตกกังวลต่างๆลงในระหว่างและภายหลังการทำหมันชายอีกด้วย ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการทำหมันชาย มีดังนี้
- การทำหมันชายเป็นการผ่าตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ เพื่อป้องกันไม่ให้มีเชื้ออสุจิปนออกมาในน้ำกามที่หลั่งออกมา หาใช่การตัดเอาลูกอัณฑะออกเพื่อตอนไม่
- การทำหมันชายไม่มีผลทำให้พละกำลังการทำงานหนักตามปกติลดลง
- การทำหมันชายไม่มีผลทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ความรู้สึกต้องการและความพึงพอใจทางเพศ การแข็งตัวขององคชาต ตลอดจนการเข้าถึงจุดสุดยอดจนหลั่งน้ำกามนั้นจะเป็นปกติ
- การทำหมันชายเป็นการคุมกำเนิดประเภทถาวร การผ่าตัดแก้หมันในภายหลังจึงได้ผลตั้งครรภ์ไม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์ หากยังต้องการมีบุตรอีกควรเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดประเภทชั่วคราวอื่นแทน
- การทำหมันชายมีอัตราความสำเร็จของการคุมกำเนิดไม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์ แต่มีอัตราความล้มเหลวของการคุมกำเนิดต่ำมากเมื่อเทียบกับวิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ
การเตรียมตัวก่อนการทำหมันชาย
คู่สมรสที่เลือกการทำหมันชายเป็นวิธีคุมกำเนิด ควรมีบุตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 คนขึ้นไป เนื่องจากการผ่าตัดแก้หมันชายเพื่อต้องการมีบุตรอีกในภายหลังนั้นได้ผลตั้งครรภ์ไม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์บุตรคนสุดท้องควรมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากเด็กในขวบปีแรกมักจะป่วยเป็นโรคอันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ง่าย ประวัติโรคประจำตัวที่สำคัญ ควรระวังและต้องเรียนให้แพทย์ทราบทุกครั้ง ได้แก่ ภาวะเลือดออกผิดปกติและเลือดแข็งตัวช้า เช่น มีจ้ำเลือดหรือห้อเลือดตามตัว ประวัติเคยแพ้ยาโดยเฉพาะยาชาจากการผ่าตัดครั้งก่อน ซึ่งแพทย์จะได้ใช้เป็นข้อมูลเลือกวิธีการผ่าตัดทำหมันที่เหมาะสมต่อไป โรคติดเชื้อต่างๆ ที่เป็นอยู่โดยเฉพาะโรคติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ชายภายนอก ได้แก่ ตุ่มหนองที่ผิวหนังถุงอัณฑะ หูดที่องคชาต เป็นต้น ควรจะรับรักษา ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดทำหมันชาย การเตรียมตัวโกนขนรอบบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก เพื่อความสะดวกและสะอาดระหว่างการผ่าตัดทำหมัน
การดูแลปฏิบัติตัวหลังการทำหมันชาย
เนื่องด้วยหลังเสร็จสิ้นการทำหมันชายผู้รับการทำหมันสามารถกลับบ้านหรือกลับออกไปปฏิบัติงานได้เป็นปกติ การดูแลปฏิบัติตัวด้วยตนเองจึงมีความสำคัญ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้น การปฏิบัติตัวเหล่านี้ ได้แก่
- ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณแผลผ่าตัดที่ถุงอัณฑะในวันแรกหลังการผ่าตัด เพื่อช่วยลดอาการบวม ความเจ็บปวด และป้องกันการเกิดห้อเลือด
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักหรือยกของหนักเป็นเวลา 3 วัน
- งดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์หลังทำหมันชายทันทีนั้น จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเจริญเข้าต่อกันของท่อทางเดินของเชื้ออสุจิที่ตัดและผูกแยกจากกันแล้ว ทำให้การคุมกำเนิดล้มเหลวใช้การคุมกำเนิดชั่วคราวประเภทอื่นแทนหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ กระทั่งตรวจพบว่าเป็นหมันโดยถาวรคือ ไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมา
- ควรรับการตรวจน้ำกามที่หลั่งออกมาภายหลังทำหมันชายไปแล้ว 4-6 สัปดาห์
- เพื่อความแน่ใจว่าเป็นหมันโดยถาวร คือไม่พบเชื้ออสุจิและควรตรวจติดต่อกัน 2 ครั้งเพื่อความมั่นใจ
ทำหมันชาย เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือไม่
การเป็นหมันโดยถาวรหลังทำหมันชายนั้น หมายถึง การตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมา ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งของการหลั่งน้ำกามออกมา มากกว่าระยะเวลาหลังการทำหมันชาย โดย
- ผู้ที่ทำหมันชายกว่าร้อยละ 80-90 จะตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมา ภายหลังที่มีการหลั่งน้ำกามออกไปแล้ว 12-15 ครั้ง
- ผู้ที่ทำหมันชายกว่าร้อยละ 80 จะตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมาหลัง
- การทำหมันแล้ว 6 สัปดาห์ โดยไม่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความบ่อยครั้งของการหลั่งน้ำกาม
- เชื้ออสุจิที่เหลือค้างอยู่ในท่อทางเดินของเชื้ออสุจิจะสูญเสียความสามารถในการ เคลื่อนไหวใน 3 สัปดาห์ภายหลังทำหมันชาย
- ไม่ควรตรวจพบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมาภายหลังทำหมันชายแล้ว 3 เดือน
- หากตรวจพบและยังมีการเคลื่อนไหวอยู่แสดงว่าเกิดความล้มเหลวในการผ่าตัด ทำหมันชาย
- การทำหมันชายเพื่อการคุมกำเนิด มีความล้มเหลวน้อยกว่าร้อยละ 1 ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีการตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิรวมทั้งประสบการณ์ความชำนาญของแพทย์ที่ทำ
ทำหมันชายมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่
พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของผู้รับการทำหมันชาย ส่วนใหญ่จะเป็นภาวะแทรกซ้อนเพียงเล็กน้อย และสามารถให้การรักษาตามอาการ ในบางรายอาจต้องรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ นี้ จะเกิดขึ้นมากน้อยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความชำนาญของแพทย์ที่ทำผ่าตัด ได้แก่ ห้อเลือด พบบ่อยประมาณร้อยละ 1 ของผู้รับการทำหมันชาย มีสาเหตุจากการทำบาดเจ็บต่อเส้นเลือดที่อยู่โดยรอบท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ ระหว่างการฉีดให้ยาชาเฉพาะที่ หรือระหว่างการผ่าตัดแยกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิและจับผูกเส้นเลือดไม่ดีพอ ถ้ามีขนาดเล็กจะดูดซึมหายไปได้เองภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ หากมีขนาดใหญ่และมีอาการปวดมาก ควรมาพบแพทย์ซึ่งอาจต้องทำผ่าตัดควักเอาห้อเลือดออก และจับผูกตำแหน่งเส้นเลือดที่เป็นสาเหตุแผลผ่าตัดติดเชื้อ พบได้น้อยมากในปัจจุบันและมักพบร่วมกับการเกิดห้อเลือดโดยแผลผ่าตัดที่ติดเชื้อจะมีอาการบวมแดง และปวดเจ็บเวลากดหรือนุ่งกางเกง บางรายที่เป็นมากอาจพบมีหนองไหลออกมา หากเกิดอาการดังกล่าว ควรมาพบแพทย์โดยทันทีเพื่อให้การรักษาการอักเสบของท่อทางเดินของเชื้ออสุจิที่ติดกับลูกอัณฑะ พบประมาณ 1-3 รายใน 500 รายของผู้รับการทำหมันชาย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการบวมอักเสบ เนื่องจากความดันภายในท่อที่เพิ่มสูงขึ้นภายหลังการตัดและผูก ใหรักษาโดยการนั่งแช่ในน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ใส่เครื่องช่วยพยุงถุงอัณฑะที่นักกรีฑาใช้กัน และให้ยาลดอาการอักเสบประเภท NSAIDอาการเหล่านี้จะหายไปได้เองภายใน 6-12 สัปดาห์ก้อนในถุงอัณฑะ เป็นก้อนเชื้ออสุจิที่เกาะอยู่รอบๆปลายท่อทางเดินของเชื้ออสุจิที่ตัดและผูกไว้ เกิดจากเชื้ออสุจิรั่วออกมาและเกิดการอักเสบขึ้นโดยรอบ จนจับตัวกันเป็นก้อนห่อหุ้มปลายท่อนั้น พบประมาณ 2 ใน 3 ของผู้รับการทำหมันชาย แต่จะตรวจคลำพบเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ก้อนในถุงอัณฑะนี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่จะเป็นสาเหตุสำคัญของการเจริญเข้าเชื่อมต่อกันของท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ ทำให้การคุมกำเนิดล้มเหลว มักพบภายใน 12 สัปดาห์หลังการทำหมัน แต่อาจเกิดหลังจากนั้นนานนับ 10 ปี มีข้อดีคือ ทำให้ความดันภายในท่อลดลง เพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์ภายหลังการผ่าตัดต่อหมันปวดหน่วงเรื้อรังที่อัณฑะ พบประมาณ 1 ใน 2,000 รายของผู้รับการทำหมันชาย มีสาเหตุจากความดันที่เพิ่มขึ้นภายในท่อที่ติดกับลูกอัณฑะ อาการปวดหน่วงนี้เป็นไม่มากและต้องการการรักษาตามอาการเป็นบางครั้งเท่านั้น ในรายที่มีอาการปวดมากอาจต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อหมันกลับเป็นอย่างเดิมหรือทำผ่าตัดเอาท่อที่ติดกับลูกอัณฑะออกหมด
ทำหมันชาย มีผลกระทบอย่างไรบ้าง
ผู้ที่ทำหมันชายส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 30-40 ปี ผลที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังจึงนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่จากการสำรวจติดตามผลในผู้ที่ทำหมันชายไปแล้วนานกว่า 25 ปีมากกว่า 10,000 ราย ไม่พบว่าทำให้เกิดความผิดปกติในระบบการ ทำงานต่างๆ ของร่างกาย ยกเว้น
- ระบบการสืบพันธุ์ โดยความดันที่เพิ่มขึ้นหลังทำหมันชายจะทำให้ท่อที่ติดกับลูกอัณฑะโปร่งพองขึ้น เกิดรอยแตกเล็กๆ และการจับเกาะตัวเป็นก้อนของเชื้ออสุจิกระจัดกระจาย ส่งผลให้เกิดการ อุดตันขึ้นจากการกดทับภายนอกท่อ ทั้งนี้พบว่าท่อเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการอุดตันอย่างสิ้นเชิงหลังทำหมันชายไปแล้ว 10 ปี แต่จะไม่ส่งผลต่อเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศในลูกอัณฑะ ระดับฮอร์โมนเพศชายในกระแสไหลเวียนโลหิตจึงเป็นปกติ และไม่มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศ นอกจากนี้ปริมาณน้ำกามที่หลั่งออกมาก็เป็นรวมทั้งสีและกลิ่นก็ปกติ เนื่องจากน้ำกามกว่าร้อยละ 90-95ที่หลั่งออกมานั้น มาจากสารคัดหลั่งของต่อมลูกหมากและถุงเก็บเชื้ออสุจิที่อยู่หลังต่อกระเพาะปัสสาวะ
- ระบบสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอม โดยปกติเชื้ออสุจิจะถูกแยกจากระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกายจากสิ่งกีดขวางที่อยู่ ภายในลูกอัณฑะ ความดันภายในท่อที่เพิ่มสูงขึ้นหลังทำหมันชายนั้น จะทำให้สิ่งกีดขวางเหล่านี้ถูกทำลายลง เชื้ออสุจิจึงรั่วไหลเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต และแสดงตัว เป็นสิ่งแปลกปลอมหนึ่งของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้น เพื่อจับรวมตัวกับเชื้ออสุจิและขจัดออก ภูมิต้นทานนี้จะค่อยๆ ลดหายไปได้เองในระยะเวลา 2-4 ปีหลังทำหมันชาย มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังมีปรากฏอยู่หลังจากนั้นและบางส่วนจะพบปรากฎในน้ำกามที่หลั่งออกมา โดยจะไม่มีผลต่อการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย ยกเว้นอาจมีผลทำให้โอกาสการตั้งครรภ์หลังการทำผ่าตัดต่อหมันชายลดลงการทำหมันชายกับมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ชายความเชื่อที่ว่าความดันที่เพิ่มขึ้นภายในท่อทางเดินของเชื้ออสุจิหลังการทำหมันชายน่าจะมีผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ โดยเฉพาะลูกอัณฑะแลต่อมลูกหมาก ซึ่งจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์เหล่านี้มากขึ้น แต่จากการศึกษาติดตามความสัมพันธ์ดังกล่าว กลับพบว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน โดย
- ในต่อมลูกหมาก เชื่อกันว่าจะทำให้ต่อมลูกหมากสร้างและขับสารคัดหลั่งออกมาลดลงเซลล์ภายในจึงมีการเจริญเติบโตเพิ่มขนาดขึ้น ร่วมไปกับการเพิ่มขึ้นฮอร์โมนเพศชายในกระแสไหลเวียนโลหิต ส่งผลกระตุ้นและสนับสนุนโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น แต่จากการศึกษาติดตามกระทั่งปัจจุบันพบว่า การทำหมันชายจะไม่มีผลไปเปลี่ยนแปลงทั้งการทำงานของต่อมลูกหมาก และระบบต่อมไร้ท่อทั้งต่อมใต้สมองและลูกอัณฑะสาเหตุที่ตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ที่ทำหมันชายมากกว่าปกตินั้น น่าจะมาจากผู้ที่ทำหมันชาย มักจะมา พบแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพบ่อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการทำหมัน และได้รับการตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนักบ่อยกว่า จึงทำให้มีโอกาสตรวจพบมากกว่าคนปกติ
- ในลูกอัณฑะ เชื่อกันว่าความดันที่เพิ่มขึ้นภายในท่อหลังทำหมันชาย จะมีผลต่อการสร้างเชื้ออสุจิภายในลูกอัณฑะ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการก่อเกิดมะเร็งของลูกอัณฑะเพิ่มมากขึ้นจากการศึกษาติดตามพบว่า ชายที่ทำหมันชายเพื่อคุมกำเนิดนั้น มักจะอยู่ในช่วงอายุที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของลูกอัณฑะอยู่แล้ว และในรายงานทางการแพทย์ที่พบ มะเร็งลูกอัณฑะหลังทำหมันชายนั้น เป็นการตรวจพบหลังทำหมันชายแล้ว 3 เดือน เนื่องจากมีอาการปวดถ่วงที่ลูกอัณฑะตลอดเวลา จึงมีการตรวจอย่างละเอียดและพบมะเร็งอัณฑะดังกล่าว
การทำหมันชายเพื่อการคุมกำเนิดนั้น จัดเป็นหัตถการการผ่าตัดที่ง่ายและได้ผลดีในการ คุมกำเนิดอย่างถาวร เทคนิคการผ่าตัดทำหมันชายใหม่ๆ ในปัจจุบัน ช่วยลดผลข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นลงได้มาก ซึ่งอาจเป็นผลให้การทำหมันชายในวันข้างหน้าเป็นที่นิยมมากขึ้น เพศชาย ส่วนใหญ่มักจะคิดกังวลและมีความสับสนว่า การทำหมันชายเป็นการตอนตัดลูกอัณฑะออกทิ้ง จนไม่สามารถทำงานหนักได้เป็นปกติ และมีความเสื่อมถอยใสมรรถภาพทางเพศ การทำความเข้าใจและรับคำปรึกษาจากแพทย์ จะช่วยป้องกันความเข้าใจผิดเหล่านี้และลดความกังวลลง จากการศึกษาวิจัยในอดีตกระทั่งปัจจุบันพบว่า การทำหมันชายยังเป็นวิธีการที่ปลอดภัย และไม่มีผลเสียต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. รวมเรื่องราวเกี่ยวกับทำหมันหญิง
3. ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการเป็นหมันในผู้ชาย
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
ขอขอบคุณข้อมูล : นายแพทย์วันชัย นัยรักษ์เสรี พ.บ. ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย