สิวอักเสบไม่มีหัว เกิดจากอะไร? และวิธีการดูแลรักษาสิวให้หายเร็วขึ้น

22 May 2023
511 view

วิธีการดูแลรักษาสิวให้หายเร็ว

.

.

เรื่องสิว ๆ มักถูกใช้เปรียบเปรยกับปัญหาเล็ก ๆ ที่ต้องประสบพบเจอในชีวิต แต่หากท่านใดเคยเป็นสิวจะทราบเลยว่าปัญหาเรื่องสิวนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ หรือไม่ใช่เรื่องที่รับมือง่ายแต่อย่างใด บางรายก็รักษาร่วมเดือนจนกระทั่งเป็นปีกว่าจะหายจากการเป็นสิว หรือ บางรายก็เป็น ๆ หาย ๆ ทำให้ผู้ที่เป็นสิวเกิดความไม่มั่นใจในผิวของตนยิ่งถ้าสิวเกิดบริเวณนอกร่มผ้าที่สามารถเห็นได้ชัดก็ยิ่งทำให้ความมั่นใจลดหายไปอีก นอกจากส่วนของความมั่นใจแล้วผู้ที่เป็นสิวบางรายก็สามารถเกิดอาการเจ็บบริเวณที่เป็นสิวได้อีกด้วย อาการเจ็บส่วนนี้ก็เกิดจากการอักเสบของสิวนั่นเอง โดยสิวเองก็มีหลากหลายชนิด สิวชนิดหนึ่งที่เมื่อเป็นแล้วทำให้เกิดอาการเจ็บ อีกทั้งยังรักษาได้ยากกว่าสิวชนิดอื่น ๆ ก็คือ สิวอักเสบไม่มีหัว สำหรับบทความนี้เราจึงขออาสาพาทุกท่านไปร่วมรู้จักกับสิวชนิดนี้ พร้อมทราบสาเหตุ และ วิธีการดูแลรักษากัน

สิวอักเสบไม่มีหัว เกิดจากอะไร

สิวอักเสบไม่มีหัวเกิดจากความผิดปกติในการรวมตัวของเคราติน (Keratin) บริเวณ Pilosebaceous Unit (บริเวณรวมระหว่างร่องขุมขน (Hair Follicle) และ ต่อมไขมัน (Sebaceous Gland)) ทำให้เกิดการทับถมที่มากกว่าปกติ ร่วมด้วยการทับถมขยายจากบนลงล่างของผิวหนัง กล่าวคือ จากเดิมที่การทับถมนี้จะค่อย ๆ ปรากฎไปบนผิวให้เห็น แต่กลับทับถมลงไปในผิวหนังชั้นที่ลึกกว่าจนเกิดเป็นสิวขึ้น ส่วนนี้จะเรียกว่าสิวไม่มีหัว จากนั้นเมื่อมีแบคทีเรีย Proprionibacterium Acnes (C.acnes) มาใช้ไขมันส่วนเกินที่เกิดขึ้น ณ ส่วนนี้ก็จะเกิดการอักเสบและแดงขึ้น เมื่อถึงขั้นที่สิวอักเสบนี้ก็จะเรียกว่า สิวอักเสบไม่มีหัว นั่นเอง

วิธีการดูแลรักษาสิวอักเสบไม่มีหัว

เราจะเห็นว่าส่วนของสิวไม่มีหัว และ สิวอักเสบไม่มีหัว มีความแตกต่างกันที่สิวไม่มีหัวจะไม่มีแบคทีเรีย Proprionibacterium Acnes (C.acnes) มาเกี่ยวข้องทำให้มีวิธีการดูแลรักษาที่ง่ายกว่า แต่เมื่อเป็นชนิดสิวอักเสบไม่มีหัวจะมีแบคทีเรีย Proprionibacterium Acnes (C.acnes) มาเกี่ยวข้อง ส่วนนี้จึงต้องมีวิธีการดูแลรักษาที่รวมไปถึงแบคทีเรียชนิดนี้ด้วย ดังนี้

  1. ใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เพื่อกำจัดแบคทีเรีย Proprionibacterium Acnes (C.acnes) หนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดสิวอักเสบไม่มีหัวขึ้น อาทิเช่น ด็อกซีไซคลีน (Doxycycline) เป็นต้น
  2. ใช้ยาไปช่วยลดการอักเสบ (Inflammation) เพื่อลดอาการบวมแดงที่เกิดขึ้นภายในผิว ในส่วนนี้จะช่วยลดการแพร่กระจายของสิวจากบริเวณ Pilosebaceous Unit ไปอีกบริเวณ Pilosebaceous Unit หนึ่งได้อีกด้วย ส่วนนี้ยาที่ใช้ อาทิเช่น เซฟาเลกซิน (Cephalexin) หรือ คอร์ติโซน (Cortisone) โดยยาชนิดหลังจะเป็นยาฉีดที่ใช้ฉีดไปบริเวณสิวอักเสบไม่มีหัวโดยตรงเลย
  3. การใช้เลเซอร์ ซึ่งเป็นวิธีการในสมัยใหม่ที่สามารถลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ อาทิเช่น การใช้เลเซอร์ Er:Glass laser 1550 nm หรือ เลเซอร์ Pulse dye laser 595nm (vBeam) เป็นต้น

ป้องกันสิวอักเสบแบบไม่มีหัวได้อย่างไร

การป้องกันในส่วนของสิวอักเสบไม่มีหัวจะมีวิธีที่คล้ายคลึงหรือเหมือนการป้องกันสิวชนิดอื่น ๆ เลย ดังต่อไปนี้

  • การทำความสะอาดที่เหมาะสมทั้งจำนวนครั้งต่อวันและการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผิวพรรณของตนเองตามสภาพผิวที่ปรากฎ อาทิเช่น ผิวแห้ง ผิวมัน ผิวผสม หรือผิวบอบบางแพ้ง่าย
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อความเสี่ยงให้เกิดสิวเพิ่ม อาทิเช่น การหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์กันแดดหรือผลิตภัณฑ์รองพื้นที่มีส่วนผสมของ Silicone ที่ทำให้เกิดการอุดตันบนผิวหน้า หรือ บริเวณ Pilosebaceous Unit แล้วนำมาซึ่งสิวได้
  • หมั่นผลัดเซลล์ผิวตามความเหมาะสม เพื่อลดโอกาสการทับถมที่ผิดปกติของเคราติน ในส่วนนี้สามารถใช้การผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาติอย่างการพอกหน้า หรือ จะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดอ่อน ๆ ก็ได้ โดยการผลัดเซลล์ผิวที่เหมาะสมคือทำเพียงเดือนละ 2 ครั้งหากผิวคุณสามารถผลัดเซลล์ผิวได้ตามปกติ และเมื่อคุณทำการผลัดเซลล์ผิวไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ ควรหลีกเลี่ยงการที่ผิวต้องเผชิญหน้ากับแสงแดดจัด
  • หลีกเลี่ยงมลภาวะที่ก่อให้เกิดสิว ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่ร้อนจัด หรือ อากาศที่เย็นจัด หรือ แม้แต่ฝุ่น ควัน และแสงแดด
  • หมั่นเปลี่ยนหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยระหว่างวัน โดยควรเปลี่ยนหลังการรับประทานอาหารมื้อหนักทุกมื้อ

จากบทความข้างต้นเราจะเห็นว่าไม่ว่าสิวไม่มีหัว หรือ สิวอักเสบไม่มีหัวก็ล้วนทำให้ผู้ที่เป็นเกิดความไม่สบายผิว และความไม่มั่นใจขึ้นได้ อย่างไรก็ดีแม้สิวทั้งสองชนิดจะมีวิธีการรักษาสิวที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะสิวอักเสบไม่มีหัวที่ต้องใช้ตัวยาร่วมด้วย ดังนั้นคุณควรรักษาสิวชนิดดังกล่าวโดยปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพราะทุก ๆ การใช้ยาอาจเกิดผลข้างเคียงได้ อย่างยาที่ใช้รักษาสิวชนิดนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างผิวแห้งหรือการเกิดภาวะการสร้างเม็ดสีน้อยกว่าปกติ (Hypopigmentation) ได้ หรือการรักษาด้วยเลเซอร์เองก็ต้องรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด แต่สิวทั้งสองชนิดล้วนสามารถป้องกันได้ด้วยตัวของคุณเองตามบทความข้างต้น เพื่อให้ปัญหาสิวไม่กลายเป็นปัญหาของคุณอีกต่อไป

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team