ความกังวลส่งผลต่อพัฒนาการเด็กมากน้อยแค่ไหน สังเกตได้อย่างไรว่าลูกเป็นเด็กขี้กังวล

02 May 2014
1536 view

ความกังวล

ความกังวลส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก ความวิตกกังวล คือสภาวะทางอารมณ์ที่ไม่มีความสุข ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการทำงานของร่างกาย อาจเกิดจากความไม่สบายใจหรือกลัวไปล่วงหน้าว่าจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้เครียดเป็นอันตราย แต่ความวิตกกังวลนี้ เป็นสิ่งที่เกิดได้กับคนทั่วไปในทุกระยะ แต่จะถือว่าเป็นความผิดปกติก็เมื่อเป็นมาก จนทำให้เกิดทุกข์ เดือดร้อน หรือส่งผลกระทบต่อความสามารถในด้านต่างๆ

ความกังวลส่งผลต่อพัฒนาการเด็กอย่างไร

ความกังวลจะแสดงออกมาแตกต่างกันตามวัย โดยเด็กอาจมีพฤติกรรมที่ถดถอยไปจากเดิม สิ่งที่เคยทำได้ก็กลับเป็นทำไม่ได้ หรืออาจแสดงออกมาในรูปของปัญหาทางกายบ่อยๆ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น วิงเวียน เป็นลม เหนื่อย เจ็บหน้าอก หายใจหอบเร็ว ปัสสาวะบ่อยๆนอนไม่หลับหรือเด็กอาจแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่ต้องทำเป็นประจำซ้ำๆ เช่นล้างมือซ้ำๆ ในเด็กอนุบาล อาจไม่ยอมแยกจากพ่อแม่ไปไหน หงุดหงิด ร้องไห้ง่าย หรือในเด็กวัยเรียน อาจมีท่าทางตึงเครียด อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ส่วนในวัยรุ่นอาจเป็นความวิตกกังวลในเรื่องความคิด เอกลักษณ์หรือรูปร่างของตน
ความกังวลของเด็ก มีสาเหตุเกิดจาก

มีหลายสาเหตุดังนี้ จากพันธุกรรมจากพื้นฐานอารมณ์เด็กแต่กำเนิด (แยกตัว เงียบ ปรับตัวช้า) จากการเลี้ยงดู (ปกป้องเด็กมาก เลี้ยงแบบทารก ไม่สม่ำเสมอ ชอบตำหนิ) การที่ผู้ใหญ่ใกล้ชิดแสดงอาการวิตกกังวลบ่อย หรือเด็กเคยประสบเหตุการณ์น่ากลัวมาก่อน สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความกังวลในเด็กที่พบบ่อย คือ การเริ่มเข้าโรงเรียน การย้ายบ้าน การย้ายโรงเรียน การมีน้องใหม่ การเกิดวิกฤติการณ์ในครอบครัว เช่น ครอบครัวแตกแยก การหย่าร้าง การตายจาก ส่วนในวัยรุ่นอาจเกิดจาการไม่ลงรอยกับคนในครอบครัว มีปัญหากับเพื่อน การเลิกกับคู่รัก การที่พ่อแม่ทะเลาะกันเอง

ทำอย่างไรเมื่อเด็กมีความกังวล

พ่อแม่ไม่ส่วนช่วยอย่างมากในการช่วยเหลือเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถผ่านพ้นความวิตกกังวลไปได้ ผู้ใหญ่ควรทำความเข้าใจถึงอาการที่เด็กแสดงออกมา “เด็กไม่ได้แกล้งทำ” ให้เวลาและโอกาสเด็กในการเรียนรู้และปรับตัวกับปัญหา กระตุ้นให้เด็กระบายความรู้สึกกังวล ไม่สบายใจออกมา ปลอบโยน ชี้แจงตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สอนให้เด็กมีวิธีการที่เหมาะสมในการเผชิญปัญหาและปรับตัวต่อไป ตลอดจนลดความเครียดในครอบครัว แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กอยู่สภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย ถ้าเด็กมีอาการมาก ควรนำมาพบแพทย์เพื่อหาสวาเหตุเพิ่มเติมและไข

ป้องกันไม่ให้ลูกเป็นเด็กที่มีความกังวลได้อย่างไร

ควรเริ่มตั้งแต่เล็ก โดยเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมให้อบอุ่นมั่นคง มีการเลี้ยงดูที่เหมาะสมตามวัยของเด็ก ลดการทำให้เด็กกลัว กังวล เช่น การขู่ การหลอกหรือการลงโทษรุนแรง รวมถึงการสอนให้เด็กมีวิธีปรับตัวและมุมมองต่อปัญหาที่ดี เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในภายภาคหน้า
ความวิตกกังวลนั้น เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป แต่ถ้าเป็นมากจนส่งผลกระทบในด้านต่างๆแล้วเราต้องรีบช่วยเหลือไข เพื่อให้เด็กสามารถผ่านพ้นไปได้และไม่กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบไปจนกลายเป็นผู้ใหญ่ได้
บทความแนะนำเพิ่มเติม
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team