ผื่นผ้าอ้อม เคล็ดลับดีๆและวิธีป้องกันการเกิดผื่นผ้าอ้อม

04 October 2016
94044 view

ผื่นผ้าอ้อม

ผื่นผ้าอ้อมไม่ได้เกิดจากตัวผ้าอ้อมโดยตรง แต่เกิดเนื่องจากผลของการใช้ผ้าอ้อม เช่น ความร้อน อบ อับ เปียกชื้น เหงื่อที่ผิวหนังและปัสสาวะและอุจจาระที่ติดอยู่ที่ผ้าอ้อม และการดูแลผิวหนังบริเวณนั้นไม่ถูกต้องทำให้ผิวหนังเปียกชื้นและสัมผัสกับปัสสาวะและอุจจาระเป็นเวลานานจนเกิดการระคายเคือง เป็นผื่นแดง เปื่อยเป็นแผลและอาจติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราซ้ำเติม

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ผื่นผ้าอ้อมสาเหตุเกิดจากอะไร

ปัญหาผื่นผ้าอ้อมที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการเสียดสี ความเปียกชื้น หรือการติดเชื้อที่ผิวหนัง แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ ผื่นผ้าอ้อมถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งทารกในช่วงอายุ 4 ถึง 15 เดือนเป็นกันมากกว่าครึ่งเลยทีเดียว ขอเพียงคุณแม่เข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดผื่นผ้าอ้อมในแบบต่าง ๆ ก็จะสามารถดูแลก้นนุ่ม ๆ ของลูกน้อยให้ปลอดภัยจากผื่นผ้าอ้อมได้แล้วค่ะ

ความชื้นและการเสียดสีที่มาของผื่นผ้าอ้อม

ลักษณะ: มักเกิดบริเวณผิวหนังส่วนที่เสียดสีกับผ้าอ้อมของทารก เช่น บริเวณอวัยวะเพศ ต้นขา และก้น อาจเป็นรอยบวมแดงได้ค่ะ

สาเหตุ: บางครั้งเพียงแค่การที่ผิวหนังเสียดสีกับผ้าอ้อม สัมผัสกับสารเคมีหรือน้ำหอมในผ้าอ้อมสำเร็จรูปหรือผลิตภัณฑ์ซักผ้า ก็ทำให้ผิวของทารกระคายเคืองและเกิดผื่นคันได้แล้วล่ะค่ะ ผื่นชนิดนี้เรียกว่า ผื่นแพ้จากการสัมผัส (Contact Dermatitis) ซึ่งสาเหตุของผื่นผ้าอ้อมแบบนี้ที่พบได้บ่อยๆ ก็คือความเปียกชื้นนั่นเอง แม้คุณแม่จะเลือกผ้าอ้อมที่ซึมซับได้ดีที่สุด แต่เรื่องความอับชื้นนั้นก็ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และยิ่งเมื่อแบคทีเรียจากอุจจาระผสมเข้ากับปัสสาวะของทารกด้วยแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่รุนแรงต่อผิวทารกได้นะคะ ดังนั้นแนะนำให้คุณแม่คอยเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกน้อยบ่อย ๆ เพื่อลดการอับชื้นค่ะ

ผื่นผ้าอ้อมอันตรายหรือไม่ 

หากไม่รีบแก้ไขรักษาเมื่อมีอาการแรกเร่ม ผื่นผ้าอ้อมกลายเป็นเชื้อราอันตรายเช่นกันค่ะ  เชื้อราที่ว่าคือ แคนดิด้า (Candidiasis) ลักษณะของผื่นจะมีทั้ง แบบตุ่มแดง (Papule), ปื้นแดง (Plaque), หรือ ผื่นที่มีหนังลอกออกเป็นแผ่นๆ (Scale), และมักพบผื่นเล็กๆ ที่กระจายออกไป เหมือนมีการลามออกไป เรียกว่ามี Satellite Lesion รอยผื่นแดงเล็กๆ บางที่จะรวมตัวกันเป็นผื่นที่ใหญ่ขึ้นผื่นเดียว (Coalescing) ควรพบแพทย์

ผื่นผ้าอ้อมเกิดซ้ำได้หรือไม่ 

ผื่นผ้าอ้อมก็มีโอกาสเกิดซ้ำได้อีก สำหรับทารกที่มีผิวบอบบางแพ้ง่าย หรือถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่สบาย และต้องกินยาปฏิชีวนะ ก็อาจเกิดผลข้างเคียงคือท้องเสีย ซึ่งทำให้ต้องถ่ายบ่อย และเกิดความอับชื้นได้ ก็จะมีโอกาสเกิดผื่นผ้าอ้อมได้ง่ายเช่นกันค่ะ

วิธีป้องการเกิดผื่นผ้าอ้อม

วิธีป้องกันผื่นผ้าอ้อมที่ดีที่สุด คือการรักษาก้นของทารกให้แห้งอยู่เสมอ คุณแม่จึงควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมให้น้องบ่อย ๆ นะคะ

  1. ทำความสะอาดอวัยวะเพศของน้องทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอ้อม โดยใช้ผ้าแตะซับผิวของน้องเบา ๆ ให้แห้ง ระวังอย่าใช้ผ้าถู เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ค่ะ
  2. เมื่อน้องเริ่มกินอาหารแข็ง ๆ ได้บ้างแล้ว แนะนำให้คุณแม่ค่อย ๆ ให้เขาหัดกินไปทีละอย่างนะคะ รอสักสองสามวันค่อยให้น้องกินอาหารชนิดใหม่ วิธีนี้จะช่วยให้คุณแม่รู้ว่าผื่นผ้าอ้อมเป็นผลมาจากการแพ้อาหารชนิดนั้น ๆ หรือไม่ค่ะ
  3. อย่าใส่ผ้าอ้อมให้แน่นจนเกินไป การสวมเสื้อผ้าและผ้าอ้อมให้ทารก ควรให้มีช่องว่างหลวม ๆพอที่จะให้อากาศระบายได้ และควรหลีกเลี่ยงผ้าที่แนบติดตัว เช่น กางเกงผ้าพลาสติกแน่นๆค่ะ
  4. ไม่ควรซักผ้าอ้อมด้วยผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่ผสมน้ำหอม และไม่ควรใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มนะคะ เพราะทั้งสองอย่างนี้อาจทำให้ผิวของลูกน้อยระคายเคืองได้ ควรใช้น้ำร้อนซักทำความสะอาดผ้าอ้อมแล้วล้างด้วยน้ำเปล่าสองครั้ง หรือคุณแม่จะเติมน้ำส้มสายชูสักครึ่งถ้วยลงในน้ำล้างน้ำแรกก็ได้ค่ะ เพื่อช่วยขจัดสารที่มีฤทธิ์เป็นด่างซึ่งก่อให้การระคายเคือง
  5. ถ้าคุณแม่ใช้ผ้าอ้อมแบบสำเร็จรูป บางครั้งอาจต้องลอง เปลี่ยนยี่ห้อแล้ว ดูสิคะว่า อาการผื่นคันของน้องดีขึ้นหรือไม่
  6. โดยปกติแล้วอุจจาระบวกกับปัสสาวะของทารกจะมีความเป็นด่าง ซึ่งทำให้ผิวระคายเคืองและมี โอกาสเป็นผื่นผ้าอ้อมได้มากขึ้น แต่การให้ทารกกินนมแม่ให้นานที่สุดอาจช่วยได้ค่ะ เพราะว่านมแม่จะช่วยลดค่า ph ในอุจจาระได้ ทำให้มีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้โดยทั่วไปแล้ว การให้น้อง กินนมแม่ยังช่วยกระตุ้นให้เขามีภูมิคุ้มกันต้านทานการติดเชื้อ ทำให้ทารกมีโอกาสใช้ยาปฏิชีวนะ น้อยลง ซึ่งยาปฏิชีวนะนี้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้องเป็นผื่นผ้าอ้อมได้ด้วยค่ะ
  7. พยายามหยุดการใช้ผ้าอ้อมหรือใส่ผ้าอ้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้แม้จะอยู่ในห้องแอร์ และเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกบ่อยๆ(อย่างน้อยทุกๆ 2-3 ชั่วโมงหรือทุกครั้งที่ลูกถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ) เพื่อช่วยให้ผิวหนังของลูกได้สัมผัสอากาศมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผิวลูกจะได้แห้ง ไม่เปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าลูกเป็นผื่นผ้าอ้อม จะต้องลดเวลาการใส่ผ้าอ้อมลงไปอีกเรื่อยๆและดูแลผิวลูกให้ถูกต้องและดีขึ้นอีกจนกระทั่งลูกไม่มีปัญหาผื่นผ้าอ้อมอีก
  8. ควรใช้ผ้าอ้อมชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งที่มีเจลหรือผ้าใย (microfiber cloth) ที่ช่วยดูดซึมความเปียกชื้นจากผิวหนัง จะช่วยให้ผิวหนังแห้งและมีโอกาสเป็นผื่นผ้าอ้อม
  9. เมื่อลูกปัสสาวะหรืออุจจาระควรถอดเปลี่ยนผ้าอ้อม แล้วทำความสะอาดผิวหนังส่วนที่อยู่ในผ้าอ้อมเบาๆ ด้วยน้ำเปล่า หรือสบู่ไร้ด่าง
  10. หากเริ่มมีรอยเเดงแต่ยังไม่เกิดผื่น สามารถใช้ปริโตเลียมเจล หรือวาสลีน ทาบางๆบริเวณรอยแดง วาสลีน
    เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ผิวของลูกน้อยเสียดสีกับผ้าอ้อมโดยตรง ซึ่งสามารถป้องกันการระคายเคืองได้เป็นอย่างดี วาสลีน เจลลี่ ได้ผ่านกระบวนการต่างๆในการกลั่นถึงสามขั้นตอนเพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อผิวที่บอบบางของลูกน้อย หลังอาบน้ำเสร็จ ซับตัวลูกเบาๆให้แห้งแล้วทา วาสลีนเจลลี่ ลงบนบริเวณผิวที่อาจเป็นผื่นผ้าอ้อมก่อนใส่ผ้าอ้อม วาสลีนเจลลี่ จะทำหน้าที่ป้องกันและบรรเทาการระคายเคืองจากการเสียดสีทีผิวของลูก
  11. หลังทำความสะอาดผิวหนังบริเวณผ้าอ้อมของลูก ควรเช็ดให้แห้ง ปล่อยให้ผิวหนังลูกสัมผัสกับอากาศก่อนแล้วจึงทาด้วยครีมหรือ Ointment ที่มีZinc Oxide หรือ Petrolatum (วาสลีน ) หรือ dimethiconeเพื่อเคลือบปกป้องผิวไม่ให้เกิดการระคายเคือง
  12. ไม่ควรทาแป้งบริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศของลูกเพราะแป้งจะจับกับเหงื่อที่ออกในบริเวณนั้นกลายเป็นคราบหรือก้อนแป้งชื้นๆแฉะๆ ทำให้ผิวชื้นแฉะตลอดเวลา และสามารถเกิดอาการระคายเคืองและเป็นผื่นผ้าอ้อมง่ายขึ้น
  13. ควรพาลูกไปพบแพทย์หากดูแลรักษาตามวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือเมื่อสงสัยว่าลูกอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นตุ่มหนอง หรือ เป็นผื่นเนื่องจากเชื้อรา

อาการผื่นผ้าอ้อม เกิดขึ้นได้ง่ายคุณแม่ควรดูแลลูกรักอย่างถูกวิธี Mamaexpert แนะนำเคล็ดลับดีๆไปแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เด็กๆแต่ละบ้านจะไม่เกิดปัญหา ก้นแดง ก้นเป็นผื่น อีกต่อไปค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. ผื่นผ้าอ้อม จอมวายร้ายที่คุณแม่ทั้งหลายจัดการได้

2. เคล็ดลับดีๆ เพื่อลูกน้อยห่างไกลผดผื่นใต้ผ้าอ้อม

3. ผ้าอ้อมซักได้ VS ผ้าอ้อมซักไม่ได้แบบไหนดีกว่ากัน

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team