อาหารติดคอลูก คุณแม่ต้องรู้ ควรรับมืออย่างไรให้ถูกวิธี

18 March 2023
761 view

อาหารติดคอลูก

.

.

การเฝ้าดูการเติบโตของลูกน้อยคงเป็นโมเม้นแห่งความสุขของคุณพ่อคุณแม่ในหลายครอบครัว ไม่ว่าการเติบโตนั้นจะเป็นเพียงกิจวัตรประจำวันที่แสนจะธรรมดา แต่เมื่อกิจวัตรเหล่านั้นถูกถ่ายทอดผ่านลูกน้อยความน่ารักและความพิเศษก็เกิดขึ้นโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นการนอน เดิน วิ่ง หรือแม้แต่การรับประทานอาหาร และทุกกิจวัตรนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเฝ้าดูพร้อมเพิ่มความระมัดระวังในอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อป้องกันสิ่งที่คาดไม่ถึงซึ่งจะเกิดกับลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นการนอนที่อาจจะพลิกทับแล้วทำให้หายใจไม่ออก การเดินหรือการวิ่งที่อาจหกล้มแล้วอาจบาดเจ็บได้ หรือการรับประทานอาหารที่อาจเกิดอาการอาหารติดคอ โดยในบทความนี้เราจะขอพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความเข้าใจกับการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นเมื่อลูกน้อยมีอาการติดคอกัน

อาหารติดคอลูก อันตรายที่ต้องระวัง

แทบจะไม่น่าเชื่อเลยว่ากิจวัตรประจำวันที่เราต้องทำในทุกวันซึ่งเป็นกิจวัตรที่ดูเผิน ๆ แล้วไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ได้ อย่างการรับประทานอาหารจะกลายเป็นกิจวัตรที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ หากการรับประทานอาหารนั้นเกิดอาการอาหารติดคอขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออาการอาหารติดคอเกิดขึ้นกับลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มากนัก ความอันตรายจึงยิ่งสูงขึ้น ในส่วนของการที่อาหารติดคอในลูกน้อยนี้ก็แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ การติดคอแล้วเกิดการอุดตันทางเดินหายใจหรือหลอดอาหารบางส่วน (Partial Obstruction) ซึ่งลูกน้อยยังคงพูดได้ปกติ แต่หายใจแล้วมีเสียงหวีด และลักษณะที่สองคือการติดคอแล้วเกิดการอุดตันทางเดินหายใจหรือหลอดอาหารแบบรุนแรง (Complete obstruction) ซึ่งลูกน้อยจะพูดออกเสียงไม่ได้เลย หายใจลำบาก ปากเขียว หน้าเขียว แล้วนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยเราเรียกการเสียชีวิตที่เกิดจากการอุดตันทางเดินหายใจหรือหลอดอาหารว่า Choking 

วิธีรับมือเมื่ออาหารติดคอลูก

อาการอาหารติดคอคงเป็นอาการที่ไม่มีคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนอยากให้เกิดในลูกน้อยของตนอย่างแน่นอน แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงนี้ขึ้นกับลูกน้อยของคุณ การช่วยเหลือลูกน้อยอย่างทันท่วงทีจึงนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรทราบถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกันไว้ ซึ่งก็มีวิธีการง่าย ๆ ดังนี้

  1. คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่าเมื่อเกิดอันตรายกับคนที่คุณรัก คุณมักจะลนลานและไม่มีสติ โดยเฉพาะเมื่อคนที่คุณรักนั้นเป็นลูกน้อยของคุณด้วยแล้ว สติจึงนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น และต้องทำการปฐมพยาบาลด้วยความรวดเร็วเพราะเมื่อลูกน้อยขาดอากาศเพียง 4 นาที ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ก็จะกลายเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทรากันได้เลย
  2. คุณพ่อคุณแม่เช็คอาการของลูกน้อยเบื้องต้น เช่น การถาม - ตอบ ดูว่าลูกน้อยสามารถออกเสียงได้หรือไม่
  3. จับลูกน้อยนอนคว่ำแล้วตบหลังแรง ๆ บริเวณทรวงอกด้านหลัง เพื่อให้อาหารหลุดออกมา สิ่งสำคัญในข้อนี้คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ล้วงมือเข้าไปในปากของลูกน้อยเพื่อดึงอาหารออกมาโดยตรง หรือ จับลูกน้อยในท่าห้อยศีรษะ เพราะจะทำให้อาหารที่ติดอยู่ในคอนั้นเคลื่อนที่แล้วไหลไปอุดตันทางเดินหายใจหรือหลอดอาหารแบบรุนแรงได้
  4. หากลูกน้อยมีสีหน้าเขียว หรือ ปากเขียว คุณพ่อคุณแม่ต้องปฐมพยาบาลในท่า Heimlich โดยให้ลูกน้อยนั่งหรือยืนโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ยืนด้านหลังลูกน้อยแล้วใช้แขนสอดสอดโอบรอบลำตัวลูกน้อย กำมือเป็นมัดแล้ววางไว้ใต้ลิ้นปี่ จากนั้นใช้แรงดันมือลงกดตรงตำแหน่งลิ้นปี่ของลูกน้อย เพื่อให้เกิดแรงดันให้อาหารหลุดออกมา ซึ่งท่า Heimlich นี้มีเคล็บลับที่สำคัญคือต้องทำด้วยความรวดเร็ว

อาหารที่ควรเลี่ยงให้ลูกกิน เสี่ยงติดคอได้ง่าย

อย่างไรก็ดีคุณพ่อคุณแม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการอาหารติดคอในลูกน้อยได้ จากการเลือกประเภทอาหารให้ลูกน้อยรับประทาน โดยอาหารที่คุณพ่อคุณแม่ควรเลี่ยงให้ลูกน้อยรับประทานก็มีดังนี้

  • เยลลี่เป็นอาหารที่สามารถลื่นไหลลงไปติดคอของลูกน้อยได้
  • หมากฝรั่ง เพราะนับเป็นของขบเคี้ยวที่ไม่สามารถกลืนได้ หากลูกน้อยเผลอกลืนเข้าไปก็จะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้
  • องุ่นซึ่งนับเป็นผลไม้ที่มีผลกลม หากลูกน้อยรับประทานทั้งผล ด้วยลักษณะของเปลือกที่ลื่นและผลที่กลมก็อาจทำให้ลื่นไหลลงสู่คอแล้วติดคอลูกน้อยได้
  • ป็อปคอร์น โดยป็อปคอร์นที่พองออกไม่เต็มที่จะยังคงเป็นข้าวโพดที่มีความแข็งมาก ซึ่งส่วนนี้ก็สามารถไหลลงคอลูกน้อยแล้วติดคอได้ ยิ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบก็ยิ่งไม่ควรให้รับประทานป็อปคอร์น เพราะเด็กจะยังไม่สามารถแยกได้ระหว่างป็อปคอร์นที่พองสมบูรณ์กับเมล็ดข้าวโพดแข็งออกจากกันได้

เราจะพบว่าเพียงแค่กิจวัตรประจำวันของลูกน้อยอย่างการรับประทานอาหารก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ หากเกิดอาการอาหารติดคอขึ้น ซึ่งเราก็มีอาหารที่ควรเลี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดอันตรายดังกล่าวตามบทความข้างต้น แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นกับลูกน้อยของคุณ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นก็นับเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้และฝึกฝนไว้ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกน้อยได้อย่างทันท่วงทีในสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ลูกหายใจครืดคราด แบบไหนผิดปกติ

2. อาหารติดคอลูกน้อย คุณแม่ต้องรู้ ปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้อย่างไร

3. เครื่องปั่นอาหารทารก ไอเทมที่จะช่วยให้คุณแม่ เตรียมอาหารลูกง่ายขึ้น

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team