ดูดเสมหะด้วยลูกยางแดง
ในเด็กเล็ก พบว่ามีน้ำมูกและเสมหะได้บ่อย บางครั้งไม่สามารถขับออกมาเองได้ คุณแม่หลายท่านไม่กล้าที่จะดูดเสมหะให้ลูก เพราะกลัวลูกเจ็บ วันนี้ mamaexpert นำเคล็ดวิธีการดูดเสมหะและน้ำมูกมาฝากค่ะ คุณแม่ไม่ต้องกลัวนะคะ ไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ
อุปกรณ์ดูดเสมหะด้วยลูกยางแดง
- ลูกยางแดงสะอาด เบอร์ 2 สำหรับเด็กเล็ก ลูกยางแดงสะอาด เบอร์ 4 สำหรับเด็กโต
- ผ้าห่อตัวเพื่อป้องกันกรดิ้น
- กระดาษทิชชูหรือภาชนะ เพื่อใช้รองน้ำมูกและเสมหะที่จะบีบทิ้งจากลูกยางแดง
เตรียมตัวลูกก่อนดูดเสมหะด้วยลูกยางแดง
- เด็กส่วนใหญ่มักจะไม่ให้ความร่วมมือ จึงควรใช้ผ้าห่อตัวลูกให้แน่นหนา เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเอามือปัดและดิ้นไปมา เมื่อลูกอยู่นิ่งๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่จะได้สูดเสมหะด้วยความนุ่มนวล
- ไม่ควรดูดน้ำมูกหรือเสมหะตอนลูกอิ่มนม หรือหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ
- การดูดน้ำมูก ควรทำควบคู่กับการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อให้เสมหะ หรือน้ำมูกที่เหนียวข้น และขัดขวางการหายใจของเด็กเวลานอนออกมา
วิธีการดูดเสมหะด้วยลูกยางแดง
- ใช้ผ้าห่อตัวเด็กให้แน่นหนาเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเอามือปัดและดิ้นไปมาเมื่อเด็กอยู่นิ่ง ๆ ผู้ดูดเสมหะจะได้ดูดเสมหะได้ด้วยความนุ่มนวล
- ใช้มือข้างที่ถนัดจับลูกยางแดงและบีบลมออกให้แฟบ เตรียม พร้อมที่จะดูด ขณะที่มืออีกข้างจับหน้าเด็กให้เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
- สอดปลายลูกยางแดงเข้าในรูจมูกทีละข้าง โดยให้สอดเข้าไปตื้น ๆ พร้อมกับปล่อยมือช้า ๆ น้ำมูกจะถูกดูดเข้ามาในลูกยางแดง
- บีบน้ำมูกที่ดูดมาได้ทิ้งในทิชชูหรือภาชนะที่เตรียมไว
- ทำซ้ำแบบเดิม และดูดน้ำมูกออกจนหมดในจมูกแต่ละข้าง
- หากเด็กมีเสมหะในปอดค่อย ๆ สอดปลายลูกยางแดงเข้าไปในปากจนกระทั่งถึงโคนลิ้น จึงจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กไอ
- ขณะเด็กไอจะมีเสมหะขึ้นมาในคอ ปล่อยลูกยางแดงให้ดูดเสมหะเข้ามาช้า ๆ
- บีบเสมหะทิ้งในกระดาษทิชชูหรือภาชนะที่รองรับและดูดเสมหะซ้ำอีกจนกระทั่งไม่ได้ยินเสียงเสมหะครืดคราดในลำคอ
หมายเหตุ :
การจับให้เด็กหันหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เป็นการป้องกันไม่ให้เด็กสำลักเอาน้ำลายหรืออาหารเข้าปอด หากขณะดูดน้ำมูกหรือเสมหะแล้วเด็กอาเจียนออกมาพร้อม ๆ กัน
การล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ :
หลังดูดเสมหะทุกครั้ง นำลูกยางแดงไปล้างน้ำสบู่ และบีบล้างในน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ควรนำไปต้มน้ำเดือดนานประมาณ 5 นาที วันละ 1 ครั้ง
การระบายน้ำมูกและเสมหะ จะช่วยให้ลูกนอนได้ดีขึ้น นำไปสู่การพักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งจะทำให้ลูกหายป่วยไวขึ้น ไม่เป็นหวัดเรื้อรัง ที่สำคัญควรทำควบคู่ไปกับการล้างจมูก และดื่มน้ำเยอะๆ ด้วยนะคะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
2. อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team