คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)

05 October 2015
33952 view

การคลอดก่อนกำหนด

อายุครรภ์เฉลี่ยของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่คลอดบุตรในประเทศไทยคือ ช่วงอายุครรภ์ 38 - 40 สัปดาห์ อายุครรภ์ดังกล่าว เป็นการคลอดปกติ ครบกำหนด นอกจากนั้นยังพบว่าสถิติการคลอดก่อนกำหนดก็มีอัตราที่สูงเช่นเดียวกัน การคลอดก่อนกำหนด หมายถึงทารกคลอดออกมาก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์เต็ม โดยนับเริ่มต้นจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายก่อนตั้งครรภ์ เป็นวันที่ 1 (สำหรับคนที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอทุก 28 วัน) และไม่น้อยกว่า20 สัปดาห์ถึงจะถือว่าคลอดก่อนกำหนด หากอายุครรภ์น้อยกว่า20 สัปดาห์ทางการแพทย์ ถือว่าเป็นการแท้งบุตร


คลอดก่อนกำหนด ทารกมีโอกาสรอดเป็นอย่างไร

อายุครรภ์ 22-23 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 17 %
อายุครรภ์ 24-25 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 40-50 %
อายุครรภ์ 26-28 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 80-90 %
อายุครรภ์ 29-31 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 90-95%
อายุครรภ์ 32-33 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตประมาณ 95 %
อายุครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์ ทารกมีโอกาสเลี้ยงรอดชีวิตเหมือนทารกคลอดครบกำหนด คือประมาณ 95-98%

คลอดก่อนกำหนด ส่งผลในเรื่องใดบ้าง

ทารกคลอดก่อนกำหนด มีปัญหาตามมามากมายทั้งค่าใช้จ่าย และเรื่องสุขภาพ ทารกคลอดก่อนกำหนด จะประสบปัญหาระบบการหายใจ เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ตัวเหลือง และน้ำหนักตัวน้อย 

  • น้ำหนักทารกปกติที่คลอดในช่วงอายุครรภ์ที่ 38-40 สัปดาห์ น้ำหนักโดยเฉลี่ย 2,500 – 3,000 กรัม
  • ทารกคลอดก่อน 37 สัปดาห์พบว่าจะมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม เรียกว่า “ทารกน้ำหนักน้อย”
  • ทารกคลอดก่อน 30-32 สัปดาห์พบว่าจะมีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม เรียกว่า “ทารกน้ำหนักน้อยมาก”

คลอดก่อนกำหนดและคุณแม่กลุ่มเสี่ยง

  1. ภาวะ ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
  2. คุณแม่ครรภ์แฝด ยิ่งแฝดมาก ยิ่งคลอดก่อนกำหนดมาก
  3. ภาวะรกเกาะต่ำ
  4. เกิดการอักเสบ หรือ ผ่าตัดในช่องท้อง เช่น มีภาวะไส้ติ่งอักเสบขณะตั้งครรภ์หรือมีไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน
  5. มีปริมาณน้ำคร่ำมาก หรือน้อยเกินไป
  6. แม่ตั้งครรภ์มีมดลูกรูปร่างผิดปกติแต่กำเนิด เนื้องอกมดลูก
  7. ภาวะ รกลอกตัวก่อนกำหนดคลอด
  8. มารดาสูบบุหรี่ เสพย์สารเสพติด ภาวะทุโภชนาการ
  9. ช่วงอายุของคุณแม่ตั้งครรภ์ (น้อยกว่า 18 ปี หรือ มากกว่า 35 ปี)
  10. การเจริญเติบดตของระยะตัวอ่อนผิดปกติ

คลอดก่อนกำหนด มีวิธีป้องกันอย่างไร

  1. ฝากครรภ์ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์
  2. ไปตามนัดและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  3. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ 8 ชั่วโมงในตอนกลางคือ และ 1 งีบในตอนกลางวัน
  4. ออกกำลังกายไม่หักโหม ไม่ยกของหนัก ไม่เดินทางไกล
  5. ไม่เครียด ทำจิตใจผ่อนคลายอยู่เสมอ
  6. เรียนรู้ความรู้สึกของมดลูกบีบตัวแต่เนิ่น ๆ เพื่อการสังเกตตัวเอง
  7. ลดหรืองดการกระตุ้นที่หัวนม
  8. ลด หรือ งดการมีเพศสัมพันธ์ในไตรมาสสุดท้าย ( บางรายแพทย์อาจกำหนด )

การปฏิบัติตัวเมื่อคุณแม่มีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

อาการที่แสดงว่าคุณแม่ตั้งครรภ์อาจเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด คือ มีการบีบตัวของมดลูกอย่างสม่ำเสมอ จนทำให้เกิดการบางตัวและการเปิดของปากมดลูกก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถ้ามีการบีบตัวดังกล่าว แต่ไม่ทำให้ปากมดลูกบางตัว เราเรียกว่า การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดคุกคาม ควรไปพบแพทย์ทันที การตรวจที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะได้รับในลำดับต่อมาคือ

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อตรวจแล้วพบว่าเป็นจริง และจะมีการติดตามการบีบตัวของมดลูกและการเปลี่ยนแปลงของปากมดลูกอย่างต่อเนื่อง
  • แพทย์จะจำกัดกิจกรรมบางอย่างโดยให้คุณแม่นอนบนเตียงตลอดเวลา เพื่อความผ่อนคลายของร่างกาย
  • ตรวจเลือด ปัสสาวะ และให้น้ำเกลือที่มียาฉีดให้มดลูกลดการบีบตัวในระยะแรก และให้ยารับประทานเมื่ออาการสงบลง
  • ตรวจอัลตราซาวนด์ และการตรวจพิเศษเพื่อดูสุขภาพ
  • หากตรวจพบว่าต้องทำการคลอด คุณแม่ตั้งครรภ์อาจได้รับการทำคลอดด้วยวิธีการผ่าตัดทางหน้าท้อง ในกรณีเร่งด่วน หรือคลอดวิธีธรรมชาติในคุณแม่บางราย สำหรับคุณแม่ที่ตรวจพบว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด แพทย์จะให้กลับบ้านหลังจากร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติดีแล้ว


คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจต่อสุขภาพตัวเอง และการฝากครรภ์ให้มาก เนื่องจากการดูแลครรภ์เป็นการดูแลทั้ง สองชีวิตควบคู่กันไป การดูแลครรภ์แต่ละวันแต่ละเดือนนั้น ควรได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม และควรอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์โดยด่วนนะคะ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นค่ะ

บทความแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์

1. โรคภูมิแพ้ในแม่ตั้งครรภ์

2. โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์

3. 11 สาเหตุที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด แม่ท้องต้องระวัง!!!

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team