จากกรณีหญิงสาวคนหนึ่งโพสต์เรื่องราวผ่านเฟชบุ๊กถึงอันตรายของยา “ทรามาดอล” หรือที่วัยรุ่นนิยมเรียกว่า “ยาเขียว-เหลือง” ตามสีของแคปซูล จนทำให้แฟนหนุ่มมีอาการสมองเบลอ ความจำเสื่อม ไม่สามารถลุกจากที่นอน เดินไม่ได้ และขอให้วัยรุ่นที่ชอบกินยาเขียว-เหลืองเลิกกิน ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมวัยรุ่นที่นิยมนำยามาใช้ในทางที่ผิดนั้น
เมื่อวันที่ 21 กันยายน ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีมาตรการควบคุมการกระจาย “ยาทรามาดอล” ซึ่งจัดเป็นยาอันตราย โดยจะต้องมีการรายงานจำนวนการซื้อขาย ตั้งแต่การนำเข้า การผลิต การส่งขายไปยังร้านขายยา และจากร้านขายยาไปถึงประชาชน แต่จากเรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ากระบวนการในการควบคุมยังมีช่องว่างอยู่ ทำให้ยาสามารถหลุดรอดออกมาถึงกลุ่มคนที่นำยามาใช้ในทางที่ผิดได้ จึงอยากเสนอให้ อย.มีมาตรการการตรวจสอบให้มากขึ้นและจัดระบบการนำเข้าและการกระจายยาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
“จริงๆ แล้วไม่ใช่มีแต่ยาทรามาดอลที่มีปัญหาเรื่องช่องว่างของการควบคุมการกระจายยา ทำให้เกิดการหลุดรอดของยาออกไปใช้ในทางที่ผิด ยังมีในส่วนของยาสเตียรอยด์ที่นำไปใช้ผสมในผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายด้วยที่มักเจอปัญหาเช่นเดียวกันและเป็นข่าวอยู่เนืองๆ รวมไปถึงยาไซบูทรามีนหรือยาลดความอ้วนที่ถูกถอดออกจากระบบยาในประเทศไทยไปแล้ว จัดเป็นยาที่ผิดกฎหมาย และทั่วโลกก็เลิกผลิตไปแล้ว แต่มักพบการนำมาผสมในอาหารเสริมจนกลายเป็นข่าวทำให้เสียชีวิตอยู่ ” ภญ.นิยดา กล่าว
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า กรณีวัยรุ่นที่เป็นข่าวคงต้องมีการดำเนินการตรวจสอบต่อ หากเกี่ยวข้องกับร้านขายยาก็ต้องมีการเอาผิดตามกฎหมายแน่นอน ส่วนการยกระดับมาตรการยาทรามาดอลนั้น ขระนี้ก็มีมาตรการควบคุมโดยต้องทำรายงานตั้งแต่การนำเข้าจากกรมศุลกากรว่านำเข้ามาเท่าไร รวมไปถึงตั้งแต่โรงงานที่ผลิตในประเทศไทยว่าผลิตออกมาจำนวนเท่าไร และมีการขายไปยังร้านขายยาจำนวนเท่าใด และขายไปยังประชาชนจำนวนเท่าใด โดยต้องส่งข้อมูลให้ อย.ผ่านระบบออนไลน์ และยังจำกัดปริมาณด้วยคือร้านขายยาซื้อมาได้ไม่เกิน 1,000 เม็ดต่อเดือน และขายให้แก่ประชาชนได้ไม่เกิน 10 เม็ด และห้ามขายให้คนอายุต่ำกว่า 17 ปี ซึ่งมาตรการนี้ก็ถือว่าเพียงพอ การจะยกระดับมาตรการขึ้นไปอีกก็จะกระทบการเข้าถึงยาสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยา