8 เทคนิคที่พ่อแม่ช่วยเหลือเด็กก้าวร้าวให้มีพฤติกรรมดีขึ้น

18 June 2017
10951 view

เด็กก้าวร้าว

เด็กเล็กวัย 2-5 ปี ยังเป็นวัยที่พัฒนาการทางอารมณ์ สังคม จะยึดตนเองเป็นหลัก ขาดการควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือเด็กบางคนมีพื้นเพทางอารมณ์ที่เด็กเลี้ยงยาก ปรับตัวยาก จึงเกิดความขับข้องใจและแสดงออกโดยการอาละวาดได้บ่อย เช่น เด็ก 2 ขวบแย่งของเล่นจากเด็กคนอื่น เด็ก 3 ขวบลงไปนอนกับพื้นร้องเสียงดัง เพื่อจะได้เล่น ถึงแม้จะเป็นก้าวร้าวตามวัย พ่อแม่ควรที่จะช่วยเหลือปรับพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก และสาเหตุที่ทำให้เด็กก้าวร้าว ได้แก่ 


เด็กก้าวร้าวอาละวาดจากสภาวะจิตใจ

เด็กและวัยรุ่น ที่เครียด กังวลใจ ซึมเศร้าหรือมีความคับข้องใจทางอารมณ์ ขาดความสุขด้วยวุฒิภาวะที่ยังเป็นเด็กอยู่ จึงระบายความรู้สึกโดย ก้าวร้าว อาละวาด ต่อต้าน ไม่สุภาพ โดยมากเด็กจากสาเหตุนี้จะมีอาการทางอารมณ์อื่นร่วมด้วย เช่น สีหน้าไม่มีความสุข ปรับตัวยากกับเพื่อน ฯลฯ

เด็กก้าวร้าวอาละวาดจากการเลี้ยงดู

เด็กที่พ่อแม่เลี้ยงดูตามใจ ขาดกฎเกณฑ์ วินัย ขาดการสอนหรือสื่อความหมาย เมื่อทำความผิดถูกลงโทษหรือเห็นตัวอย่างแก้ปัญหาที่รุนแรงทั้งกายและใจ ถูกยั่วยุอารมณ์บ่อยๆจะทำให้เกิดความก้าวร้าว การเลี้ยงดูจึงมีบทบาทสำคัญมากต่อการป้องกันและการแก้ไขพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ไม่ว่าจากสาเหตุใดก็ตาม

เด็กก้าวร้าวจากสภาวะแวดล้อม

จากการศึกษาพบว่า เด็กที่ดูโทรทัศน์นานเกิน 2 ชั่วโมงต่อวันจะหงุดหงิด ก้าวร้าว ส่วนเด็กที่เห็นภาพรุนแรงทั้งจากชีวิตจริง หรือตามสื่อต่างๆหรือเกมส์คอมพิวเตอร์จะซึมซับความรุนแรง เสียนแบบเห็นเป็นเรื่องปกติ และแสดงออกด้วยความก้าวร้าวได้

เด็กก้าวร้าวพ่อแม่ช่วยเหลือได้อย่างไร

1. ควบคุมอารมณ์อย่าก้าวร้าวตอบ ถือเสียว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้สอนลูก
2. ถ้าทำร้ายตนเอง ผู้อื่นหรือข้าวของให้หยุดพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยความสงบ หนักแน่น เอาจริงเช่น จับมือเด็กไม่ให้ปาของ หรือตีคนอื่น
3. ถ้าอาละวาดให้หยุดความสนใจ จนกว่าเด็กสงบ พร้อมสื่อให้เด็กรุว่าพ่อแม่จะเข้ามาหา เมื่อเขาสงบแล้ว
4. ถ้ารบกวนผู้อื่นให้แยกออกมาอยู่ในมุมสงบ (Time Out) ( 1 นาท ต่อ อายุ 1 ปี ) พร้อมสื่อให้เด็กเข้าใจว่าการรบกวนผู้อื่นเป็นสิ่งไม่สมควร แต่เด็กจะกลับเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ได้ เมื่อสงบไม่รบกวนผู้อื่น
5. พ่อแม่ต้องร่วมแก้ไขด้วยวิธีเดียวกัน ไม่ขัดแย้ง
6. เมื่อเด็กสงบ รับฟังความรู้สึก ช่วยให้เด็กหาวิธีการที่เหมาะสมในการแสดงออก
7. การสอนให้บอกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ใช่ตำหนิตัวเด็ก เช่น “แม่รักหนูแต่ไม่ชอบการตีคนอื่น”
8. ช่วงปกติหมั่นฝึกวินัย ความรับผิดชอบ ร่วมทำกิจกรรมกับลูกหาโอกาสชื่นชมความสามารถ


การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดีมีพฤติกรรมเชิงบวก ส่วนหนึ่งมาจากพ่อแม่ เพราะพ่อแม่คือไอดอลคนแรกของลูก การเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกย่อมเป็นเรื่องดีที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำค่ะ 

ขอบคุณข้อมูล  : เว็บไซต์ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย