เรื่องเล่าจาก…. นายแพทย์สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา
อันตรายในสตรีตั้งครรภ์ที่เข้าสู่กระบวนการคลอดและหลังคลอดทันที ที่ไม่สามารถตรวจพบหรือป้องกันได้ก่อน และกรณีรุนแรงมักเป็นเหตุให้เสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วน ได้แก่ภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือด เป็นมูลเหตุแห่งกรณีพิพาทระหว่างญาติกับแพทย์หากเกิดความไม่เข้าใจได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีเช่นนี้ ในโอกาสนี้จึงขออนุญาตนำบทความของท่านศาสตราจารย์นายแพทย์สมบูรณ์ คุณาธิคม ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ดังนี้
ภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือด (Amniotic fluid embolism) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง มักเกิดขึ้นในระหว่างเจ็บครรภ์หรือหลังคลอดทันที ภาวะนี้เกิดจากมีการรั่วของน้ำคร่ำเข้าไปในกระแสเลือด มักเกิดในระหว่างเจ็บครรภ์ที่มีการหดรัดตัวของมดลูก โดยเฉพาะเมื่อถุงน้ำคร่ำแตกน้ำคร่ำที่เข้าไปในกระแสเลือดจะไปอุดกั้นหลอดเลือด โดยเฉพาะในปอด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ความดันเลือดต่ำจนเข้าสู่ภาวช็อค เลือดไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทำให้หมดสติ ตัวเขียวคล้ำ ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตในระยะเวลาอันรวดเร็ว บางครั้งแม้ว่าเกิดภาวะนี้ในขณะที่สูติแพทย์กำลังผ่าตัดคลอด หรือหลังคลอดกำลังเย็บแผลฝีเย็บ ก็ยังช่วยชีวิตไม่ทันทั้งๆที่อยู่กับผู้ป่วยและให้การรักษาทันที ส่วนใหญ่เมื่อพบผู้ป่วยเกิดภาวะนี้ขึ้น ทั้งแพทย์และพยาบาลจะรีบระดมกำลังเข้าช่วยเหลือ ในบางรายที่ไม่เสียชีวิต ก็อาจกลายสภาพเป็นเจ้าหญิงนิทราได้ อันที่จริง ภาวะแทรกซ้อนนี้เกิดขึ้นน้อย บางรายงานพบว่าเกิดขึ้นประมาณ1 ใน 20,000 ราย ของการคลอด สำหรับสถิติของโรงพยาบาลศิริราช ระหว่างปี พ.ศ.2543- 2553 มีจำนวนคลอดทั้งหมด 118,889 ราย พบภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดเกิดขึ้น 6 ราย คิดเป็น 1 ต่อ 19,814 รายของการคลอด ในแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กคลอดใหม่ 800,000 ราย เมื่อคิดตามอัตราดังกล่าว แต่ละปีจะมีผู้ป่วยที่เกิดภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือด ประมาณ 40-50 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิต ในรายที่รอดชีวิตมักเป็นรายที่อาการไม่รุนแรง อาจเนื่องจากน้ำคร่ำที่รั่วเข้าไปในกระแสเลือดมีจำนวนน้อย จึงช่วยเหลือแก้ไขได้ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากภาวะนี้มากกว่าร้อยละ 80ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์นั้น ขณะมาฝากครรภ์สูติแพทย์จะให้การดูแลหญิงตั้งครรภ์กลุ่มเสี่ยงสูงอย่างใกล้ชิด เช่น ผู้ที่มีเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปี เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ความเสี่ยงต่ำ จะให้การดูแลตามมาตรฐานทั่วไป ในห้องคลอดจะมีพยาบาลคอยดูแล ในรายที่มีปัญหาสูติแพทย์จะเข้าไปดูด้วยตนเอง ไม่มีความจำเป็นที่สูติแพทย์ต้องนั่งเฝ้าหญิงที่เจ็บครรภ์คลอดทุกราย มิฉะนั้นสูติแพทย์ทั่วประเทศ 2,500 คน ถ้าไปนั่งเฝ้าหญิงที่มาคลอด 800,000คนต่อปี ก็คงไม่สามารถให้บริการโรคอื่นได้ และในความเป็นจริงหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีความเสี่ยงระหว่างฝากครรภ์ ก็สามารถคลอดเองได้โดยธรรมชาติ ปัญหาของภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดก็คือ ไม่มีอาการแสดงหรืออาการเตือนใดๆมาก่อน เกิดขึ้นทันทีทันใด เสียชีวิตรวดเร็ว เกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกคนเพราะตอนมาโรงพยาบาลก็ยังแข็งแรงปกติดี หวังว่าเมื่อคลอดแล้วจะได้อุ้มลูกกลับบ้านด้วยกัน เวลาเกิดเรื่องแต่ละครั้ง สูติแพทย์เองก็เสียใจ การเห็นผู้ป่วยเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา โดยที่ตนเองช่วยเหลืออะไรไม่ได้ นับเป็นความเจ็บปวดอย่างยิ่งของผู้ที่เป็นแพทย์