อาการปวดหัว เป็นการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยๆ ซึ่งคุณไม่ควรละเลย เพราะอาการปวดหัวนั้น ต้องแยกให้ออกว่า ปวดแบบไหน เพราะนั่นเป็นสัญญาณเตือนว่า อาการปวดแต่ละอย่างที่คุณเป็นอยู่ บ่งบอกโรค ทางการแพทย์แบ่งแยก ออกเป็น3 ปวดหัวปกติต้องพักผ่อน ปวดหัวมากต้องรักษา และ ปวดหัวรุนแรงต้องรีบพบแพทย์ฉุกเฉิน และอาการปวดหัวแบ่งย่อยออกเป็น อาการ ดังนี้
1.อาการปวดหัวฉับพลัน (Emergency headache)
อาการแสดง ปวดหัวอย่างรุนแรงโดยฉับพลัน หน้ามืด และรู้สึกปวดหัวเหมือนหัวจะระเบิด บางรายมีไข้และความดันโลหิตสูงร่วมด้วย หรืออาการปวดเกิดขึ้นหลังจากได้รับแรงกระแทกบริเวณศีรษะ รวมทั้งภายหลังเคลื่อนไหวศีรษะเร็วและแรง อีกทั้งยังอาจปวดคอ เกิดอาการชาที่ใบหน้า ลิ้น และปาก จนส่งผลกระทบกับการพูด พร้อมทั้งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
สาเหตุ ปวดหัวทันทีทันใด เกิดจากความเครียดอย่างสูง ซึ่งมีผลต่อระดับความดันโลหิตและการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมอง รวมทั้งอาจมีสาเหตุจากแรงกระแทกที่ค่อนข้างรุนแรงบริเวณศีรษะ และเนื้องอกที่สมองก็ได้
การรักษา พบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วน
2.ปวดหัวเรื้อรัง (Chronic daily headache)
อาการแสดง ปวดหัวเรื้อรังหมายถึง ปวดหัวติดต่อกันมากกว่า 15 วันต่อเดือน และปวดอย่างนี้เรื่อย ๆ เกิน 3 เดือน ในบางรายอาจมีอาการไข้และปวดเมื่อยบริเวณคอและไหล่ร่วมด้วย
สาเหตุ สาเหตุของอาการปวดหัวเรื้อรังอาจเกิดจากพฤติกรรมกินยาแก้ปวดติดต่อกันนานเกินไป ทำให้ร่างกายได้รับยาปริมาณมากเกิน พร้อมกันนั้นอาจวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากโรคไมเกรนและเนื้องอกในสมองได้อีกทางหนึ่งด้วย
วิธีรักษา เริ่มแรกควรหยุดใช้ยาแก้ปวดที่กินเป็นประจำก่อน จากนั้นอาจรักษาโดยใช้ยาแก้อาการเศร้าซึม ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ เช่น อะทีโนลอล (Atenolol), เมโทโพรลอล (Metoprolol), โพรพาโนลอล (Propanolol) ซึ่งเป็นยาที่แพทย์ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคไมเกรน หรือยาแก้อาการชัก เช่น กาบาเพนติน (Gabapentin), โทพิราเมต (Topiramate) แม้กระทั่งยาแก้ปวดอย่าง นาโพรเซน (Naproxen) และการทำโบท็อกซ์บรรเทาอาการปวด
3. ปวดหัวไมเกรน (Migraine)
อาการแสดง มีอาการปวดหัวข้างเดียว ปวดแบบหนัก ๆ ในรายที่อาการหนักมากอาจวียนศีรษะและอาเจียนร่วมด้วย หรือบางรายอาจมีอาการปวดหัวทั้งสองข้าง แต่ปวดตุบ ๆ ติดกันต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทั้งนี้อาการปวดหัวไมเกรนนับเป็นโรคปวดหัวเรื้อรังชนิดหนึ่ง
สาเหตุ สาเหตุของปวดหัวโรคไมเกรนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักจะเอนเอียงไปทางความผิดปกติชั่วคราวของหลอดเลือดสมองและสารเคมีในสมอง ซึ่งนอกจากนี้ก็ยังเป็นผลพวงจากการสะสมความคเรียด พฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอติดกันเป็นเวลานานด้วยนะคะ
การรักษา ในเบื้องต้นสามารรถรับประทานยาบรรเทาอาการปวดได้ โดยใช้ยาแก้ปวดจำพวกอะซีตะมิโนเฟน (Acetaminophen), ไอบูโพรเฟน และทริปเทนต์ (Triptan) หรือยารักษาโรคไมเกรน แต่อย่างไรก็ดีคววรเข้ารับการรักษาจากแพทย์อีกทางหนึ่ง
4. ปวดหัวชนิดรีบาวน์ด (Rebound headache)
อาการแสดง ปวดศีรษะเกือบทุกวัน โดยเฉพาะหลังตื่นนอน อาจปวดที่บริเวณขมับหรือทั้งศีรษะเลยก็ได้ ส่วนความรุนแรงแล้วแต่อาการของแต่ละคน
สาเหตุ เกิดจากการรับประทานยาแก้ปวดปริมาณมากเกินไป โดยเฉพาะยาแก้ปวดจำพวกอะซีตะมิโนเฟน (Acetaminophen) หรือไทลินอล, แอสไพริน และไอบูโพรเฟนเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมทั้งยารักษาโรคไมเกรน (Triptans) เกิน 10 วันต่อเดือนด้วย ซึ่งเมื่อเรากินยาแก้ปวดติดต่อกันนาน ๆ จนร่างกายเกิดความเคยชิน อาการปวดก็จะถูกฤทธิ์ยากดไว้ ทว่าพอฤทธิ์ยาในร่างกายหมดไป อาการปวดหัวฟื้นกลับมาแสดงอาการอีกครั้งในทันที
การรักษา อาการปวดหัวชนิดนี้ทำได้เพียงแค่ปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์ปรับสมดุลปริมาณยาในร่างกายของเราให้เข้าที่เข้าทาง
5.ปวดหัวจากความเครียด (Tension headache)
อาการแสดง ปวดหนัก ๆ ที่ขมับทั้งสองข้าง เหมือนมีแรงดันจากภายในแต่ไม่ปวดแบบตุบ ๆ อาจเกิดตั้งแต่ระดับน้อย ปานกลาง และมาก บางครั้งอาจมีอาการปวดที่ ต้นคอ หลัง และไหล่ร่วมด้วย
สาเหตุ เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกกดดันในบางเรื่องจนทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายหดเกร็ง หรือแม้แต่การนั่งและนอนผิดท่า การใช้สายตามากเกินไป และแม้แต่อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิเย็นจัด ก็เป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อรอบคอเกร็งจนกระทบกับสมอง นำไปสู่อาการปวดหัวได้เช่นกัน
การรักษา ในเบื้องต้นสามารถรักษาโดยใช้ยาแก้ปวดจำพวกไทลินอล, แอสไพริน และไอบูโพรเฟนได้ หรือจะไปนวดคลายกล้ามเนื้อก็ได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ปริมาณยาแก้ปวดที่จะกินควรต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์และเภสัชกรด้วยนะคะ
6.ปวดหัวจากปัญหาสุขภาพฟัน (Dental headache)
อาการแสดง ปวดหัวสองข้างหรือข้างเดียว รัดรึงที่หัว ปวดรอบ ๆ ดวงตา ปวดร้าวแนวกรามและขากรรไกร บางรายอาจมีอาการกัดฟันในตอนกลางคืนร่วมด้วย และสัมผัสได้ถึงอาการปวดศีรษะเมื่อเอามือไปแตะที่หน้าผาก พร้อมทั้งเมื่ออ้าปากอาจมีเสียงดังกึ้กให้ได้ยินเบา ๆ
สาเหตุ เกิดจากปัญหาความผิดปกติของข้อขมับและขากรรไกรล่าง ที่ทำให้การสบฟันผิดปกติไปด้วย จนเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อที่ควรได้รับการพักผ่อนต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นหลายเท่า นานเข้าจึงส่งสัญญาณความเมื่อยล้ามาเป็นอาการปวดหัว
วิธีรักษา ปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการผิดปกติและหาทางรักษาคุณต่อไป ซึ่งอาจจะต้องเอกซเรย์ข้อต่อขากรรไกร และสำรวจความผิดปกติของสัมผัสฟันที่มีปัญหาอยู่ด้วย
7. ปวดหัวชนิดคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
อาการ ปวดแต่ละครั้งไม่นาน ราว 5 นาที หรือสูงสุด 3 ชั่วโมง แต่จะรู้สึกปวดหัวแบบทรมานเหมือนจะตายเลยทีเดียว และอาการปวดจะเกิดขึ้นบ่อยแต่เป็นเวลาที่แน่นอน และมักจะมีอาการน้ำตาไหลข้างเดียวและมีเส้นเลือดแตกในตา ทำให้เกิดอาการตาแดง
สาเหตุ เกิดจากความผิดปกติของต่อมไพเนียลและนิวเคลียส (Nucleus) ของเซลล์ประสาทสมองที่ 5 ซึ่งทำให้ระบบการส่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทปรวนแปร ส่งผลกระทบให้ประสาทสัมผัสอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำตา และน้ำมูกทำงานผิดปกติ รวมทั้งปล่อยสารเคมีบางชนิดไปที่เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก (Dura) ทำให้เกิดอาการปวดหัวในเวลาต่อมา
วิธีรักษา ควรพบแพทย์ บรรเทาอาการได้โดยใช้ยากลุ่มทริปเทนต์ (Triptan) หรือยารักษาโรคไมเกรน และการสูดดมออกซิเจน ขนาด 10 ลิตรผ่านหน้ากากให้ออกซิเจนก็ได้
8. ปวดหัวจากการมีเพศสัมพันธ์ (Orgasm headaches)
อาการแสดง ปวดจี๊ดที่ศีรษะอย่างฉับพลัน มักจะเกิดในช่วงใกล้ถึงจุดสุดยอดหรือในบางรายอาจปวดก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นได้ โดยมีแนวโน้มเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งอาการปวดจะคงตัวอยู่ได้นาน 1 ชั่วโมงถึง 1 วันเลยทีเดียว
สาเหตุ ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับสาเหตุของอาการปวดศีรษะชนิดนี้ แต่ที่จับสังเกตได้คืออาการปวดจะหายไปเองโดยอัตโนมัติ และอาจไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
การรักษา ยาบรรเทาอาการปวด หากเคยปวดหลังจากถึงจุดสุดยอดมาก่อน รับประยาบรรเทาปวดก่อนมีเพศสัมพันธ์เป็นอีกทางเลือกที่ดี แต่หากเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์
9. ปวดหัวจากไซนัสอักเสบ (Sinus headaches)
อาการแสดง ปวดหัวจากไซนัสอักเสบมีความคล้ายคลึงกับอาการหวัดทั่วไปและอาการปวดหัวไมเกรนมากจนแทบแยกไม่ออก อาการส่วนมากจะรู้สึกปวดหน่วง ๆ บริเวณหน้าผาก ร้อนผ่าวกระบอกตา ลามไปถึงโหนกแก้ม
สาเหตุ เกิดจากการอักเสบบริเวณเยื่อโพรงจมูก ซึ่งส่งผลกระทบให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นหดเกร็งจนอาจรู้สึกปวดศีรษะได้
การรักษา รักษาโรคไซนัสให้หายเป็นปกติได้ อาการปวดหัวก็จะหายไปพร้อมกัน หรือบางรายที่อาการไซนัสไม่รุนแรง ร่างกายจะสามารถรักษาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยาใด ๆ
10. อาการปวดหัวในช่วงรอบเดือน (Menstrual headaches)
อาการแสดง อาการปวดของเพศหญิงวัยมีประจำเดือนมักเกิดก่อนมีประจำเดือนหรือหลังเป็นประจำเดือนประมาณ 2-3 วัน การปวดดังกล่าวเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปวดPMS ส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ขึ้นลงๆของเพศหญิงด้วย
สาเหตุ เกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้ปวดศีรษะ และมีอาการปวดท้องน้อย ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ร่วมด้วย
การรักษา แพทย์แนะนำให้ผู้หญิงที่มักเกิดอาการ PMS อย่างรุนแรงทุกครั้งที่เป็นประจำเดือนรับประทานอาหารแมกนีเซียมสูงได้แก่ กล้วย, อะโวคาโด, ถั่ว, เม็ดมะม่วง, โยเกิร์ต, เต้าหู้, ปลาทูน่า มากกว่าการเลือดรับประยาแมกนีเซียมชนิดเม็ด
ไม่ว่าจะปวดหัวแบบไหนก็ตาม หากคุณมีอาการปวดเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ควรพบแพทย์ เพราะการรับประทานยาบรรเทาปวดติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน ส่งผลต่อการทำงานของตับ อันตรายต่อร่างกาย และคุณอาจมีโรคอื่นแทรกซ้อน ซ่อนอยู่