ทำหมันหญิง
ทำหมันหญิง(Female sterilization)คืออะไร
เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัยและประหยัด การทำหมันหญิงเป็นการทำให้หลอดมดลูก (fallopian tube) อุดตันทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันการปฏิสนธิของไข่กับตัวอสุจิ ส่วนมากการทำหมันหญิง มักจะทำหลังคลอด ซึ่งจะง่ายและสะดวกกว่าการทำหมันหญิงในช่วงเวลาที่ไม่ตั้งครรภ์ หรือที่เรียกกันว่า “การทำหมันแห้ง” การทำหมันหญิงหลังคลอดจะทำได้ง่าย เนื่องจากมดลูกอยู่ที่ระดับสะดือ ทำให้สะดวกในการหาท่อนำไข่ และการทำหมันหลังคลอดก็ไม่ทำให้ระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาลยาวนานขึ้น และไม่มีผลต่อน้ำนมมารดาส่วนการทำหมันแห้ง จะมีกระบวนการผ่าตัดที่ยุ่งยากลำบากกว่าทำหมันหลังคลอด เนื่องจากมดลูกมีขนาดเล็กกว่ามดลูกหลังคลอด การหาท่อนำไข่จะยากกว่าการผ่าตัดทำหมันหลังคลอดเช่นกัน
ทำหมันหญิง มีข้อดีอย่างไร
- เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบถาวรที่มีประสิทธิภาพสูง
- ไม่มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ อาจเพิ่มความสุขทางเพศ เพราะปราศจากความกังวลที่จะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น
- ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
- ไม่มีผลต่อการให้นมบุตร
- มีความสะดวก ไม่ต้องมารับบริการที่คลินิกวางแผนครอบครัวบ่อย ๆ เพื่อรับยาหรืออุปกรณ์คุมกำเนิดและไม่มีการลืมใช้
ทำหมันหญิง มีข้อเสีอย่างไร
- ต้องอาศัยการผ่าตัดในห้องผ่าตัด โดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนมา จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่เหมาะสม
- อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด และการให้ยาระงับความเจ็บปวดหรือยาสลบ
- มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกสูง หากเกิดความล้มเหลวของวิธีการทำหมัน
- เมื่อเทียบกับการทำหมันชาย จะเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า
- เป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร การผ่าตัดต่อหมันทำได้ยาก เสียค่าใช้จ่ายสูงและมิใช่ทุกรายจะประสบผลสำเร็จ
- ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมทั้งเชื้อ HIV ได้
ทำหมันหญิง มีกี่แบบ แต่ละแบบทำอย่างไร
1. การทำหมันหลังคลอดและหลังแท้ง( ทำหมันเปียก )
โดยทั่วไปจะทำภายใน 48 ชั่งโมงหลังคลอด เนื่องจากมีความสะดวก ผ่าตัดง่ายและไม่เสียเวลาอยู่โรงพยาบาลนานกว่าการคลอดตามปกติ หากจำเป็นอาจทำหลังจากนี้ได้ แต่ไม่ควรเกิน 7 วันหลังคลอด สำหรับการทำหมันหลังแท้งนั้น สามารถทำได้ทันทีหลังการแท้งที่ไมมี่ภาวะแทรกซ้อน วิธีการผ่าตัดทางหน้าท้อง เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุดโดยนิยมเปิดหน้าท้องเป็นแผลขนาดเล็ก บริเวณใต้สะดือ หรือเหนือหัวเหน่า ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำหมัน และทำการผูกและตัดหลอดมดลูก โดยไหมชนิดต่าง ๆ และตัดหลอดมดลูกให้แยกจากกัน บางกรณีอาจตัดส่วนหนึ่งของหลอดมดลูกออกมาด้วย
2. การทำหมันหญิงในช่วงเวลาที่ไม่ตั้งครรภ์ (การทำหมันแห้ง)
เทคนิคที่ใช้ส่วนใหญ่เจะทำการผ่าตัดบริเวณเหนือบริเวณกระดูกหัวเหน่าและต้องใช้เครื่องมือยกมดลูก เพื่อจะสามารถมองเห็นหลอดมดลูกได้ชัดเจน หลังจากนั้นจึงผูกและตัดหลอดมดลูก
3. การทำหมันหญิงโดยใช้กล้อง laparoscope
เป็นวิธีที่มีความสะดวก รวดเร็วแต่ต้องมีทักษะในการผ่าตัดเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน อีกทั้งเครื่องมือมีราคาแพง การทำหมันหญิงโดยใช้กล้อง laparoscapeสอดเข้าไปในช่องท้อง แล้วใช้เครื่องมือที่จะสอดผ่านกล้อง laparoscope เข้าไปผ่าตัดทำหมันโดยการทำให้หลอดมดลูกอุดตัน วิธีการที่จะทำให้หลอดมดลูกอุดตันได้แก่ การจี้ด้วยไฟฟ้า การใช้อุปกรณ์รัดหลอดมดลู
ทำหมันหญิง มีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่
- ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ คือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุด โดยอาจเกิดปัญหาต่อระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจซึ่งอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ โดยทั่วไปจะใช้การระงับความเจ็บปวดเฉพาะที่ (local anesthesia) เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน
- ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด อาจเกิดเลือดออกมากจากเส้นเลือดบริเวณหลอดมดลูกในขณะผ่าตัด อาจมีอันตรายต่ออวัยวะในช่องท้อง เช่น กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ หลังผ่าตัดอาจเกิดการติดเชื้อที่แผลหรือในช่องท้องได้ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ สามารถป้องกันได้โดยการเตรียมผู้รับบริการอย่างถูกต้อง ผ่าตัดด้วยความระมัดระวัง โดยเทคนิคปลอดเชื้อ
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก ถึงแม้การทำหมันจะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์ แต่หากเกิดขึ้นหลังทำหมันไปแล้ว จะมีโอกาสเกิดเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกสูงกว่า โดยโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกจะสูงสุดในการทำหมัน โดยใช้ไฟฟ้าจี้หลอดมดลูก
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนและระดู หลังทำหมันอาจมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดลง และอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระดู เช่น ปวดระดู และระดูผิดปกติ จากการศึกษาจนถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้
คุณแม่ที่วางแผนคุมกำเนิดด้วยวิธีทำหมัน ควรศึกษาข้อดี ข้อเสียอย่างละเอียดและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากสุขภาพของตัวผู้ทำหมันนั้นสำคัญ เพราะบางคนอาจจมีข้อยกเว้นและไม่เหมาะในการทำหมัน เพราะถ้าทำแล้วอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้เช่น การตกเลือดหรือติดเชื้อหลังคลอด การอักเสบในอุ้งเชิงกราน เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ผิดที่ เนื้องอกหรือมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคตับ โรคไต เลือดจาง มีการติดเชื้อที่ผิวหนังบริเวณที่จะผ่าตัด เป็นต้นอายุน้อย มีบุตรเพศเดียวหรือมีจำนวนบุตรน้อย มีปัญหาในชีวิตสมรส ตัดสินใจทำหมันในสภาวะที่มีแรงกดดัน มีปัญหาทางศาสนา วัฒนธรรม อาจต้องใช้การคุมกำเนิดอย่างอื่นทดเเทน
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. ขั้นตอนการทำหมันชายอย่างละเอียด
3. ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการเป็นหมันในผู้ชาย
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team