ทำไมต้องถามผู้ป่วยว่า … ไป ฝังแร่ ที่เมืองจีนมาหรือเปล่า?

21 March 2015
607 view

ข้อเท็จจริง

ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนหนึ่งทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไปรักษาด้วยการฝังแร่ชนิดถาวร เช่น ไอโอดีน-125 ที่ประเทศจีน
และเมื่อเดินทางกลับมา ได้รับการตรวจวัดปริมาณรังสีในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก สตรีมีครรภ์ คนในครอบครัวและบุคลากรสุขภาพที่ให้การดูแลรักษาใกล้ชิดเป็นเวลานาน

คำแนะนำสำหรับบุคลากรสุขภาพ

  • เมื่อพบผู้ป่วยที่มีประวัติไปฝังแร่ชนิดถาวรจากประเทศจีน ควรแจ้งแพทย์ผู้รักษาและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (Radiation Safty Officer) ของโรงพยาบาลทราบ เพื่อทำการวัดปริมาณรังสีที่ระยะ 1 เมตรจากตัวผู้ป่วย
  • ปริมาณรังสีที่วัดได้เกิน 2 μSv/h บุคลากรที่ดูแลรักษาใกล้ชิดควรใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากรังสี เช่น
    lead glasses, thyroid shield และใส่อุปกรณ์วัดปริมาณรังสีประจำตัวบุคคล ในระหว่างดูแลรักษาผู้ป่วย
  •  ปริมาณรังสีที่วัดได้เกิน 10 μSv/h แพทย์ผู้รักษาควรพิจารณาว่า จำเป็นต้องแยกผู้ป่วยและเลื่อนการรักษาอื่นไปก่อนหรือไม่

คำแนะนำสำหรับประชาชน ข้อมูลจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทร. 0 2596 7600 ต่อ 3516–3517

1. ผู้ป่วยต้องไม่อยู่ใกล้สตรีมีครรภ์และเด็กเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงเดือนแรก
2. ในช่วงเดือนแรก ควรให้ผู้ป่วยแยกพักต่างหาก ไม่ควรพักรวมกับบุคคลอื่น ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
3. ในกรณีที่เข้ารับการรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องแจ้งให้โรงพยาบาลทราบว่าได้รับการรักษาโดยการฝังแร่ชนิดถาวรมา
4. กรณีผู้ป่วยเสียชีวิต ญาติผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์ผู้รักษาเพื่อขอคำแนะนำในการดำเนินการเพื่อความปลอดภัย
5. กรณีการฝังศพ สามารถดำเนินการฝังได้ โดยให้ดำเนินการตามข้อแนะนำของทางโรงพยาบาล
6. กรณีการฌาปนกิจศพ สามารถดำเนินการได้ หากฝังแร่ไอโอดีน-125 มาไม่น้อยกว่า 1 ปี
หากไม่สามารถทำได้ ผู้ที่เก็บอัฐิหรือเถ้ากระดูกหลังจากการฌาปนกิจ ควรสวมหน้ากากและถุงมือเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสี โดยอัฐิและเถ้าถ่านที่เหลือ ควรจัดเก็บไว้ในภาชนะโลหะอย่างน้อย 1 ปี
7. ไม่ควรแพร่กระจายอัฐิสู่สิ่งแวดล้อม จนกว่าระยะเวลาผ่านไปประมาณ 20 เดือน

ขอบคุณข้อมูล : สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย

  • No tag available