พัฒนาการเด็ก 25 – 30 เดือน และเทคนิคกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม

13 February 2018
6037 view

พัฒนาการเด็ก 25 – 30 เดือน

พัฒนาการเด็ก 25 – 30 เดือน ด้านการเคลื่อนไหว

เด็กวัยนี้เริ่มปะติดปะต่อความคิดสร้างสรรค์เข้ากับการพัฒนาด้านร่างกายพร้อมๆ กัน ทักษะการเคลื่อนไหวจะเพิ่มขึ้นมากในขวบปีนี้ เด็กบางคนเริ่มใช้ปากและแลบลิ้นออกมาในรูปแบบต่างๆ ทักษะการเล่นของเล่นจะพัฒนามากกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่รู้จักการเก็บรักษาของ เด็กจะเริ่มใช้มือจับดินสอและวาดรูปตามสิ่งที่เห็น การมองเห็นจะชัดเจนขึ้นมาก จนสามารถแยกแยะรูปวาดและรูปทรงได้มากขึ้น กิจกรรมการกระตุ้นพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็ก 25-30 เดือน เป็นการฝึกทักษะให้เด็กสามารถกระโดดเท้าพ้นพื้นทั้ง 2 ข้างได้ โดยมีวิธีการดังนี้

  1. ผู้ปกครองกระโดดเท้าพ้นพื้นทั้ง 2 ข้างอยู่กับที่ ให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง
  2. จับมือทั้งสองข้างของเด็กไว้ ย่อตัวลงพร้อมกับเด็กแล้วบอกให้เด็กกระโดด ฝึกหลายๆ ครั้ง จนเด็กมั่นใจว่าเด็กสามารถทำเองได้ จึงปล่อยให้กระโดดเล่นเอง (ผู้ปกครองอาจเปิดเพลงที่มีจังหวะสนุกสนานให้เด็กเต้นและกระโดดตามเสียงเพลง)

เพื่อให้ร่างกายเด็กได้เคลื่อนไหวพร้อมกับฝึกการทำงานของระบบสัมผัสต่างๆของเด็ก คุณพ่อคุณเเม่อาจใช้ของเล่นอย่าง ลูกบอล หรือไม้ตีแบต มาทำกิจกรรมกลางเเจ้งร่วมกับลูกน้อย จะช่วยให้ลูกน้อยได้ฝึกทักษะการควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวเอง เเละยังเป็นการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวพร้อมกับฝึกการประสานระหว่างระบบสัมผัสต่างๆ ด้วย 

พัฒนาการเด็ก 25 – 30 เดือน ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา

การกระตุ้นพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กเเละสติปัญญาของเด็กในวัย 25-30 เดือน เด็กจะสามารถแก้ปัญหาง่ายๆได้ โดยผ่านกิจกรรมการเล่นเกม สิ่งที่ผู้ปกครองต้องเตรียม คือ ท่อกลวงและใสขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ซม. ยาว 15 ซม. ที่ปลายเปิด 2 ข้าง,แท่งไม้,ลูกบอลไหมพรมสีแดง มีขั้นตอนดังนี้

การเล่นเกม “ช่วยลูกไก่ออกจากท่อ”

  1. วางท่อที่มีไหมพรมอยู่กลางท่อเเละแท่งไม้ ไว้ตรงหน้าเด็ก
  2. ผู้ปกครองสนทนากับเด็กโดยใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กคิด “..(ชื่อลูก)..จะเอาไหมพรมออกมาได้ยังไงนะ”
  3. หยุดรอจังหวะให้เด็กคิด
  4. ยื่นท่อที่มีไหมพรมอยู่กลางท่อและแท่งไม้ให้เด็ก พร้อมพูด (ชื่อเด็ก)เอาไหมพรมออกมาให้หน่อย
  5. ถ้าเด็กทําไม่ได้ให้ผู้ปกครองจับมือเด็กทํา ให้ทําซํ้าจนเด็กสามารถทําได้เอง เเล้วหาโอกาสให้เด็กแก้ปัญหาอื่นๆ ด้วยตนเอง เช่น นำไม้เขี่ยสิ่งของใต้เตียงออกมา เป็นต้น

วิธีกระตุ้นพัฒนาการให้เด็กพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กเเละสติปัญญามากยิ่งขึ้น พ่อแม่อาจให้เด็กขีดเขียนอย่างอิสระ หรือตามความสามารถความชอบของเด็ก ควรมีการสนทนาร่วมในสิ่งที่เด็กทำ พูดคุยถึงสิ่งที่วาด ให้เด็กฝึกทำกิจกรรมที่ใช้มือและนิ้ว เช่น ปั้นดินน้ำมัน 

พัฒนาการเด็ก 25 – 30 เดือน ด้านการเข้าใจภาษา

เด็กในวัยนี้จะมีพัฒนาการในเรื่องการออกเสียงเป็นคำๆ จะพยายามพูดเป็นประโยคออกมา ถึงแม้จะฟังดูไม่ค่อยถูกต้องนัก เเละเด็กวัยนี้จะชอบอธิบายในสิ่งที่ตนมองเห็นให้พ่อเเม่หรือบุคคลรอบข้างฟัง โดยกิจกรรมกระตุ้นการพัฒนาการทางด้านการเข้าใจภาษาของเด็กในวัย 25-30 เดือน เด็กจะสามารถชี้บอกอวัยวะของร่างกายได้ 7 ส่วน โดยมีวิธีดังนี้

  1. ผู้ปกครองชี้และบอกชื่ออวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายทีละส่วน โดยเริ่มจากอวัยวะที่เด็กเรียนรู้ได้ง่าย เช่น หัว ตา หู จมูก ปาก มือ นิ้วมือ แขน ขา เท้า
  2. ผู้ปกครองและเด็กเล่นเกม "อะไรเอ่ย?" ให้เด็กทายชื่ออวัยวะ โดยผู้ปกครองจะชี้ไปที่อวัยวะต่างๆ ทีละส่วน แล้วให้เด็กตอบชื่ออวัยวะนั้นๆ
  3. ทําซํ้าจนเด็กสามารถชี้บอกอวัยวะของร่างกายได้อย่างน้อย 7 ส่วน

วิธีส่งเสริมให้เด็กเข้าใจในภาษามากยิ่งขึ้น ผู้ปกครองอาจฝึกใช้คำสั่งสั้นๆ ให้เด็กปฏิบัติตาม ทำกิจกรรมง่ายๆ พูดคุยกับเด็กบ่อยๆ พูดในสิ่งที่เด็กสนใจในลักษณะถามคําถามเพื่อให้เด็กตอบรับหรือปฏิเสธได้ เช่น เอานมไหม? เล่นตุ๊กตาไหม? ไปเที่ยวไหม? กินข้าวไหม? เพื่อเด็กตอบรับหรือปฏิเสธคําชวนต่างๆได้ หรืออ่านหนังสือนิทานที่มีภาพประกอบร่วมกับเด็ก ชี้ภาพประกอบโดยให้ลูกได้ชี้เเละมีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการ จินตนาการ และสมาธิของเด็กมากยิ่งขึ้น

พัฒนาการเด็ก 25 – 30 เดือน ด้านการช่วยเหลือตัวเองเเละสังคม

พัฒนาการเด็กด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคม ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กทำกิจกรรมง่ายๆ เช่น หวีผม รับโทรศัพท์ ล้างมือ เช็ดมือ เป็นต้น ฝึกให้เด็กรู้จักหยิบของให้ผู้ปกครอง ถ้าเด็กทำกิจกรรมต่างๆด้วยตัวเองไม่ได้ ผู้ปกครองต้องพาเด็กทำ อาจพาเด็กทำทีละขั้นตอนหรือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เเล้วให้เด็กทำเอง จนเด็กสามารถทำกิจกรรมนั้นได้ด้วยตัวเอง

พัฒนาการของลูก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญเเละติดตามเพื่อให้ลูกน้อยมีพัฒนาการอย่างสมวัย ในทุกๆกิจกรรมการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กในเเต่ละด้าน คุณพ่อคุณเเม่ควรชื่นชมเมื่อลูกมีความพยายามหรือเมื่อลูกทำกิจกรรมสำเร็จ เพื่อเป็นการเสริมเเรงทางบวกตามหลักจิตวิทยาให้กับลูก ไม่ควรดุด่าลูกเมื่อลูกทำกิจกรรมนั้นไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ หรือไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง คุณพ่อคุณเเม่ควรพูดให้กำลังใจ เช่น "หนูเก่งมากลูก..ทำอีกครั้งดีกว่า" เเละที่สำคัญพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก หากพบว่าลูกมีพัฒนาการไม่เป็นไปตามวัย และได้ทำการกระตุ้นแล้วไม่ก้าวหน้า ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์ เพื่อขอรับคำแนะนำและเทคนิคกระตุ้นพัฒนาการลูกเพิ่มเติม Mamaexpert สนับสนุนให้คุณพ่อคุณแม่ทุกบ้าน ติดตามพัฒนาการลูกในทุกช่วงวัยค่ะ

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. 10 วิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาดและมีวิทยาศาสตร์รองรับ

2. ลูกฉลาดได้ด้วย 30 เทคนิค

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :
1. สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก - 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง.เข้าถึงได้จาก http://thaichilddevelopment.com/25-30month.php.[ค้นคว้าเมื่อ 28 กันยายน 2560]
2. Your Baby's Development pre-schooler (ages 2 to 4).เข้าถึงได้จาก. https://goo.gl/ndkMq4.[ค้นคว้าเมื่อ 28 กันยายน 2560]
3.Development stages Pre-schooler 2-4 years.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/t2bd8R .[ค้นคว้าเมื่อ 28 กันยายน 2560]