การทำหนังสือเดินทางสำหรับเด็ก
เอกสารประกอบการทำหนังสือเดินทางสำหรับเด็ก(passport)
เอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทางธรรมดาของผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปีที่ต้องเตรียมดังนี้ค่ะ
- สูติบัตรฉบับจริง หากเป็นสำเนาสูติบัตรต้องได้รับการรับรองจากอำเภอหรือเขต หากเป็นสำเนาต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากอำเภอหรือเขตมาแสดงพร้อมผู้มีอำนาจปกครอง
- บัตรประชาชนฉบับจริงของบิดาและมารดา หรือผู้มีอำนาจปกครอง นำบัตรประชาชนฉบับจริงมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ โดยบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังมีอายุใช้งาน หรือบัตรที่ใช้แทนได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทย ของบิดามารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองฉบับจริง หากชื่อนามสกุลบิดา มารดาในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย ในกรณีที่มารดาหย่าและจดทะเบียนสมรสใหม่ และใช้นามสกุลใหม่ตามสามีให้นำหลักฐานการหย่าและการสมรสที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย
- หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ ที่ต้องได้รับการรับรองสำเนาถูกต้องจากอำเภอหรือเขต
- เอกสารอื่น ๆ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ, เปลี่ยนนามสกุล, เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรม, บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาหรือมารดา เป็นต้น
- อัตราค่าธรรมเนียม เริ่มต้นราคา 1,000 บาท(อาจมีการเปลี่ยนเเปลง)
การทำหนังสือเดินทางสำหรับเด็ก พ่อแม่จะต้องลงนามให้ความยินยอม
คุณพ่อคุณแม่จะต้องมาลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ในวันยื่นคําร้อง ทำพาสปอร์ตเด็ก เว้นแต่จะเป็นกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งตามด้านล่างนี้ค่ะ
1.กรณีที่พ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่ ไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมได้
ให้พ่อหรือแม่ที่ไม่สามารถมาลงนาม ทําหนังสือยินยอมให้เด็กเดินทางไปต่างประเทศ ที่อําเภอ สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น พร้อมบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงที่มีอายุการใช้งานของพ่อหรือแม่ ที่ไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมได้ หรือในกรณีที่พ่อหรือแม่อยู่ในต่างประเทศ ให้ทำหนังสือยินยอมให้เด็กเดินทางไปต่างประเทศ จากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทย
2.กรณีที่พ่อและแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส (เด็กอยู่ในความปกครองของผู้เป็นแม่)
แม่สามารถลงนามให้ความยินยอมได้ฝ่ายเดียว พร้อมกับบันทึกคําให้การรับรองการปกครองบุตร (ป.ค.14) ที่ออกโดยอําเภอ สำนักงานเขตหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของคุณแม่ค่ะ
3.กรณีที่พ่อและแม่จดทะเบียนหย่า
พ่อหรือแม่ที่เป็นผู้ปกครองบุตรเพียงผู้เดียวในบันทึกการหย่า สามารถเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมได้ฝ่ายเดียว พร้อมนำบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของพ่อหรือแม่มาด้วย
4.กรณีที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรม
ให้พ่อหรือแม่ที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรม เป็นผู้ลงนามให้ความยินยอม พร้อมนำทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้รับบุตรบุญธรรมมาด้วย
5.กรณีพ่อหรือแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต
ให้พ่อหรือแม่ที่ยังมีชีวิตมาลงนามให้ความยินยอม พร้อมนำบัตรประชาชนฉบับจริงของตน และใบมรณบัตรของอีกฝ่ายหนึ่งมาด้วย
6.กรณีอื่นๆ
กรณีอื่นๆ ที่จะต้องมีคําสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้ปกครอง เช่น
- กรณีพ่อและแม่เสียชีวิต
- กรณีพ่อหรือแม่ของเด็กเป็นชาวต่างชาติ ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และไม่สามารถตามหาอีกฝ่ายหนึ่งมาลงนามให้ความยินยอมได้
- กรณีพ่อและแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่เด็กอยู่ในความดูแลของพ่อฝ่ายเดียวมาโดยตลอดและไม่สามารถติดต่อแม่ได้ ให้ผู้ปกครองที่มีชื่อระบุตามคําสั่งศาลเป็นผู้ลงนาม พร้อมกับนำคําสั่งศาลมาด้วย และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้ปกครอง
ทำพาสปอร์ตเด็กไม่ได้ยากเลยค่ะ ไม่ว่าจะคุณพ่อคุณแม่หรือลูกน้อย ก่อนออกเดินทางไปต่างประเทศ ต้องไปทำพาสปอร์ตให้เรียบร้อย รวมถึงผู้ที่มีพาสปอร์ตอยู่แล้ว ก็ต้องตรวจสอบอายุการใช้งานของพาสปอร์ตด้วยนะคะ
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. จัดกระเป๋ายาลูกในวันที่ต้องเดินทางไกล มียาอะไรบ้าง?
2. การเดินทางระหว่างตั้งครรภ์ เตรียมตัวเดินทางอย่างไรให้ปลอดภัย
3. เจ็บหัวหน่าวขณะตั้งครรภ์ รักษาอย่างไรดี
เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team