อาการวิตกกังวลในเด็ก
.
.
โรควิตกกังวลในเด็ก ถือเป็นอาการหนึ่งทางจิตเวช ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน เป็นโรคที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยไว้อาจจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ เพราะโดยปกติแล้วเด็กจะมี อาการวิตกกังวล ตื่นเต้นเป็นธรรมดาในสถานการณ์แปลกใหม่ เช่น การไปโรงเรียนวันแรก เจอเพื่อนใหม่ๆ และจะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป แต่หากเด็กเกิดความวิตกกังวลอยู่เสมอย้ำคิดย้ำทำ และยังมีอาการทางร่างกายอื่นๆ ร่วมด้วย นั่นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนโรควิตกกังวลอยู่ก็เป็นได้
อาการวิตกกังวลในเด็ก เกิดจากอะไร
โรควิตกกังวล ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น แต่กับเด็กก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน อาการวิตกกังวล ในเด็กเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมาจากการถ่ายทอดพันธุกรรมของพ่อและแม่ คนในครอบครัวที่มีประวัติเคยป่วยโรคดังกล่าวมาก่อน รวมถึงสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู หรือเด็กได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างหนักมาก่อน ทำให้เกิดความฝังใจกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์เหล่านั้น เช่น การเกิดอุบัติเหตุ พ่อแม่ทะเลาะกัน การถูกบูลลี่จากเพื่อนๆ ในโรงเรียน หรือเคยถูกทำร้ายร่างกายมาอย่างรุนแรง ทั้งหมดนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เด็กเกิด อาการวิตกกังวล ขึ้นได้
ประเภทและอาการของโรค
อาการวิตกกังวล เป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม ลองสังเกตอาการของลูกให้ดี หากพบว่าลูกมีอาการของโรคดังกล่าวควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการประเมินอาการ และรักษาอย่างถูกวิธี โดย โรควิตกกังวลนั้นได้แบ่งออกเป็น 5 ประเภทซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีลักษณะอาการดังนี้
1.โรควิตกกังวลแบบทั่วไป
อาการวิตกกังวล แบบทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder ) เด็กจะมีอาการความเครียดที่เล็กน้อย แต่จะสะสมทำให้ไม่มีสมาธิที่จะทำอะไรจดจ่อ เกิดอาการหงุดหงิดง่าย อ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งร่างกายเริ่มที่จะต่อต้านนอนไม่หลับ และอารมณ์อ่อนไหวร้องไห้ได้ง่าย
2.โรคกังวลแบบเฉพาะเจาะจง
อาการวิตกกังวล แบบเฉพาะเจาะจงหรือ (Phobias) คืออาการของโรคที่หวาดกลัวแบบเฉพาะเจาะจง อย่างเช่น กลัวฟ้าร้อง กลัวที่แคบ กลัวความมืด เป็นต้น เพราะหากเจอสถานการณ์ดังกล่าวมานั้นก็จะแสดงอาการกลัว ตัวสั่น ร้องไห้ อาเจียนออกมา และพยายามที่จะเลี่ยงไม่อยากเจอสถานการณ์แบบนั้น
3.โรควิตกกังวลอย่างรุนแรง
อาการวิตกกังวล อย่างรุนแรง หรือโรคแพนิค (Panic Disorder) คืออาการวิตกกังวลที่รุนแรงจนไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ ทำให้เกิดอาการทางร่างกายคือ ใจสั่น เหงื่อแตก หายใจไม่ทัน ร้อนๆ หนาว ถึงแม้ว่าอาการนี้จะหายเองได้โดยที่ไม่ต้องทานยารักษา แต่สักพักหากมีสถานการณ์วิตกกังวลเกิดขึ้นก็จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
4.โรควิตกกังวลหลังเหตุสะเทือนใจ
โรควิตกกังวล หลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder) โรควิตกกังวลประเภทนี้จะเกิดจากการเจอเหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย เกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรง คนที่รักเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อสภาพจิตใจทำให้เด็กกลายเป็นคนเงียบไม่ร่าเริง มีอาการหวาดกลัว เพราะกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำๆ อีก
5.โรควิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ
อาการวิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) คืออาการที่เด็กชอบที่จะย้ำคิดย้ำทำกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ อย่างเช่น การตรวจเช็คของที่กลัวจะลืมก่อนออกจากบ้าน การล้างมือล้างแล้วล้างอีกเพราะกลัวจะไม่สะอาด การพูดวนไปวนมาซ้ำๆ เพราะกลัวว่าสิ่งที่บอกคนอื่นไปจะลืม
ทำอย่างไรเมื่อลูกมีอาการวิตกกังวล
หากลูกมี อาการวิตกกังวล คุณแม่ควรพาลูกไปรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยการรักษา โรควิตกกังวล ในเด็กเบื้องต้นแพทย์จะทำการชักประวัติเมื่อพอทราบสาเหตุอาการแล้ว แพทย์จะทำการบำบัดจิตปรับพฤติกรรม และอาจจะใช้ยาร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยรักษาดูแลสุขภาพจิตของลูกเบื้องต้นได้ดังนี้
- พาลูกออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที
- ให้ลูกเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ เพราะเด็กควรได้รับการนอนพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 – 10 ชั่วโมง
- ฝึกให้ลูกรู้จักการผ่อนคลายลมหายใจเข้าหายใจออกแบบช้าๆ เพื่อฝึกสมาธิ และควรฝึกเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 15 นาที
- ไม่บังคับกดดันลูกจนเกินไป ปล่อยให้ลูกได้ผ่อนคลายเหมาะสมตามวัยของลูก
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มจำพวกคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลม เพราะคาเฟอีนจะทำให้นอนไม่หลับจนเป็นสาเหตุทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ
ป้องกันโรควิตกกังวลในเด็กได้ยังไง
อาการวิตกกังวล ในเด็กไม่สามารถป้องกันได้ แต่ก็มีวิธีลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการของโรคได้ โดยคุณพ่อคุณแม่จะต้องเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิด ให้ความรักความอบอุ่น มีเวลาให้กับลูกเสมอ หลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว หากิจกรรมครอบครัวทำร่วมกัน เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย หรือจะพาลูกๆ ออกกำลังกาย ฝึกสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิด อาการโรควิตกกังวลในเด็กลงได้
คุณแม่หากสังเกตว่าลูกมี อาการวิตกกังวล อยู่บ่อยครั้งไม่ควรมองข้าม ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาขอความช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ควรปล่อยไว้ เพราะโรคดังกล่าวอาจจะพัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้าทำร้ายตัวเอง จนเกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นมาก็เป็นได้ หากรู้เร็วรักษาเร็วลูกจะได้หายกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ในที่สุด
.
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. 13 อาการผิดปกติหลังคลอด ที่ต้องรีบพบแพทย์
2. โรคซึมเศร้าในเด็ก ภัยเงียบที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม..
3. โรคเครียดในเด็กอันตรายกว่าที่คิด คุณพ่อคุณแม่อย่ามองข้าม
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team