กลัวทารกในครรภ์พิการ กลัวลูกพิการแต่กำเนิด แม่ท้องต้องทำอย่างไร

15 September 2018
9868 view

กลัวทารกในครรภ์พิการ

คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ว่าจะท้องแรก ท้องสอง หรือท้องสาม ความกลัวลูกพิการก็เกิดขึ้นได้เสมอ ถึงแม้จะบำรุงด้วยอาหารชั้นดี สุขภาพแข็งแรงเพียงใด แต่เมื่อต้องมาอุ้มท้อง และไม่รู้เลยว่าขณะที่อุ้มท้องจะเผลอทำอะไรไม่ดีต่อลูกไปบ้าง แม้จะดูแลตัวเองดีอย่างไรก็ยังกลัวว่าทารกในครรภ์จะพิการ  Mamaexpert จึงนำวิธีช่วยลดความกลัวทารกในครรภ์พิการมาฝาก จะเป็นอะไรนั้นตามมาดูกันค่ะ

กลัวทารกในครรภ์พิการต้องฝากครรภ์

การฝากครรภ์ ถือ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะในการฝากครรภ์ คุณแม่จะได้รับการตรวจสุขภาพของตนเองรวมทั้งความผิดปกติของทารกในครรภ์ อยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดการตั้งครรภ์ หากเกิดภาวะแทรกซ้อนคุณแม่จะได้รับช่วยแหลือและวินิจฉัยได้แม่นยำเนื่องจากแพทย์ได้ติดตามอาการ บันทึกผลตรวจทุกครั้ง ดังนั้นคุณแม่ต้องมาฝากครรภ์ตั้งแต่ที่รู้ว่าตั้งครรภ์หรือรีบมาฝากครรภ์ในเร็วที่สุด ก่อนตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 12

กลัวทารกในครรภ์พิการต้องไม่พลาดมาฝากครรภ์ครั้งแรก

ในการมาฝากครรภ์หรือตรวจครรภ์ครั้งแรก คุณแม่จะได้รับการตรวจดังนี้

  • ชั่งน้ำหนัก เพื่อเปรียบเทียบน้ำหนักของคุณแม่ในครั้งต่อไปว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแพทย์จะแนะนำการประรับทานอาหารได้เหมาะสม นอกจากนี้น้ำหนักยังบอกถึงการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อีกด้วย
  • วัดส่วนสูง ซึ่งคุณแม่ที่มีความสูงน้อยกว่า 145 เซนติเมตร อุ้งเชิงกรานจะแคบ ทำให้เกิดปัญหาเมื่อคลอดตามธรรมชาติ(1)
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน หากมีน้ำตาลและโปรตีนออกมาในปัสสาวะแพทย์จะสั่งเจาะเลือดเพื่อตรวจโรคเบาหวานให้ละเอียดมากขึ้น และให้ยาพร้อมทั้งแนะนำวิธีการปฏิบัติระหว่างตั้งครรภ์
  • ตรวจหากรุ๊ปเลือดและหมู่เลือดอาร์เอช (RH) เพื่อความปลอดภัยในการตั้งครรภ์ เพราะหากแม่และพ่อมีหมู่เลือดที่เข้ากันไม่ได้จะส่งผลให้ทารกในครรภ์ได้รับอันตราย เช่น มีภาวะซีดหัวใจวาย(2)
  • ตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ซึ่งการตรวจ CBC สามารถตรวจหาโรคโลหิตจางได้ หากพบเลือดจางจากธาลัสซีเมียแพทย์จะทำการตรวจอย่างละเอียดและประเมินความเสี่ยงต่อโรคของทารกในครรภ์ พร้อมทั้งวางแผนการรักษาทั้งแม่และลูกอย่างรอบคอบ เพราะเลือดจางจากธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่สุดสามารถทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ส่วนชนิดที่รุนแรงเมื่อทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น ตับโต ม้ามโต ใบหน้าจะเปลี่ยน จมูกแบน เจริญเติบโตได้ช้า เป็นต้น
  • ตรวจไวรัสตับอักเสบบี ถ้าพบเชื้อขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาความเสี่ยงที่จะติดต่อไปยังทารก พร้อมทั้งเตรียมวิธีป้องกันเมื่อทารกคลอด
  • ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส หากพบต้องรีบรักษาเพราะเชื้อซิฟิลิสทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตในครรภ์ได้ แต่โรคนี้สามารถรักษาและหายได้โดยการฉีดยา และปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งตั้งแต่ระยะแรกๆ ของการตั้งครรภ์(2)
  • ตรวจหาเชื้อ HIV หากพบแพทย์จะวางแผนการตรวจรักษาตลอดจนการคลอดได้เหมาะสม เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก โดยปัจจุบันสามารถลดการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 97 (2)
  • วัดความดันโลหิต โดยปกติคนทั่วไปมีความดันโลหิตอยู่ที่ 120/80 -139/89 มิลลิเมตรปรอท คนที่เป็นโรคความดันสูงจะมีความดันสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ส่วนความดันต่ำจะอยู่ที่ 100/60 มิลลิเมตรปรอท(3) ซึ่งความดันโลหิตต่ำมักจะพบในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงแรกแต่หากมีความดันสูงทั้งก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายมากเพราะความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุทำให้แม่ตั้งครรภ์เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษและเสียชีวิต
  • ตรวจหัดเยอรมัน เพราะเชื้อหัดเยอรมันส่งผลต่อทารกในครรภ์โดยตรง ถ้าได้รับเชื้อในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ทารกจะมีความพิการ เช่น หูหนวก หัวใจพิการแต่กำเนิด สมองมีความผิดปกติ เป็นต้น(4)
  • ตรวจเต้านม เพื่อดูลักษณะของนมว่าสามารถให้ลูกดื่มได้หรือไม่ หากผิดปกติแพทย์จะแนะนำวิธีการเตรียมเต้านมให้พร้อมสำหรับลูกในอนาคต
  • ตรวจครรภ์ เพื่อดูความสัมพันธ์ของอายุครรภ์กับขนาดของมดลูก รวมทั้งตรวจหาความผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อหรือเนื้องอก นอกจากนี้อาจได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกร่วมด้วย
  • ซักถามประวัติการรักษาพยาบาลของคุณแม่ โรคประจำตัว รวมทั้งประวัติการรักษาพยาบาลหรือเจ็บป่วยของคนในครอบครัวเพื่อหาโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้และอาจส่งผลขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคเลือด โรคความดันโลหิตสูง ความพิการทางสติปัญญา เป็นต้น
  • ซักถามประวัติการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดมดลูก รังไข่ รวมถึงการผ่าคลอด และหากเคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณอุ้งเชิงกรานหรืออวัยวะเพศต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบเพื่อให้แพทย์ได้วางแผนการดูแลครรภ์และการทำคลอดได้เหมาะสม
  • ซักถามการขาดประจำเดือน เพื่อคำนวณอายุครรภ์ รวมทั้งซักถามอาการแพ้ท้อง แพ้ยา ประวัติการคลอด การแท้ง เพื่อให้แพทย์หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่คุณแม่แพ้ เลือกวิธีการคลอดและดูแลได้อย่างเหมาะสม

คุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีภาวะแทรกซ้อน เช่น แม่อายุน้อยกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี มีก้อนเนื้อในอุ้งเชิงกราน เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น แพทย์จะหาทางช่วยเหลือและแก้ไขแต่หากร้ายแรงมากแพทย์จะวินิจฉัยให้ยุติการตั้งครรภ์ หากสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นพิเศษโดยแพทย์จะนัดติดตามอาการถี่ขึ้น ส่วนในรายที่ไม่พบความผิดปกติหรือคุณแม่ที่มีความเสี่ยงต่ำ แพทย์จะทำการนัดตรวจต่อไป โดยช่วงแรกถึงเดือนที่ 6 จะนัดตรวจ 4-6 สัปดาห์หรือเดือนละครั้ง เมื่อเข้าช่วงตั้งครรภ์ได้ 7-8 เดือน แพทย์นัดตรวจ 2-4  สัปดาห์ และเมื่อเข้าสู่เดือนสุดท้ายจะนัดตรวจทุกสัปดาห์หรืออาจยืดหยุ่นตามอาการของคุณแม่(5) ซึ่งรายละเอียดของการตรวจในครั้งต่อๆ ไป ติดตามได้ในหัวข้อถัดไป

กลัวทารกในครรภ์พิการต้องไม่พลาดมาฝากครรภ์ให้ครบตามนัด

การตรวจครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก

ซึ่งในการตรวจครั้งแรกคุณแม่จะได้รับการตรวจตามที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสแรกแพทย์จะทำการตรวจดังนี้

  • Ultrasound ปัจจุบันมีการตรวจ 3 วิธี ได้แก่ 2 มิติ 3 มิติ และ 4 มิติ ซึ่งการตรวจแต่ละชนิดจะให้ความละเอียดที่แตกต่างกัน โดยปกติแล้วแพทย์จะเลือกวิธีการอัลตราซาวด์ให้เหมาะสมกับคุณแม่และทารกในครรภ์ ซึ่งในไตรมาสแรกแพทย์จะอัลตราซาวด์ 2 มิติ โดยอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอดเพื่อคัดกรองดาวน์ซินโดรม สามารถทำได้ในช่วงอายุครรภ์ 11-14 สัปดาห์ โดยหาความหนาบริเวณต้นคอทารก
  • ตรวจหาปริมาณ free fetal DNA ในเลือดของแม่ หากตรวจพบสามารถบ่งชี้ได้ว่าทารกเป็นดาวน์ซินโดรม เพราะการตรวจนี้สามารถวัดได้แม่นยำถึง 99% และสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป(6)
  • การตรวจชิ้นเนื้อรก (Chorionic villus sampling) หรือ CVC โดยจะตรวจคุณแม่ที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป คนในครอบครัวเกิดโรคบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ ซึ่งจะตรวจในช่วงอายุครรภ์10 ถึง 12 สัปดาห์ การตรวจ CVS สามารถตรวจหาความบกพร่องทางพันธุกรรมตรวจความผิดปกติของโครโมโซมได้แม่นยำ 98% และสามารถตรวจได้หลายโรค เช่น ดาวน์ซินโดรม
    โรคฮีโมฟีเลียและกล้ามเนื้อเสื่อม แต่จะไม่สามารถตรวจหาโรคหลอดประสาทไม่ปิดได้เหมือนกับการเจาะน้ำคร่ำ(
    6)

การตรวจครรภ์ในช่วงไตรมาสสอง

  • ตรวจ alpha-fetoprotein ในเลือดแม่ตั้งครรภ์ หากพบความผิดปกติอาจบ่งชี้ได้ว่าทารกในครรภ์มีโอกาสเป็นดาวน์ซินโดรมหรือหลอดประสาทไม่ปิด(7)
  • ตรวจหาปริมาณ free fetal DNA ในเลือดของแม่ เพื่อตรวจหาดาวน์ซินโดรม ซึ่งสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ ขึ้นไป หากยังไม่ได้รับการตรวจในไตรมาสแรกสามารถตรวจได้ในไตรมาสสอง
  • การตรวจอัลตราซาวด์ (ultrasounds) สามารถทำได้ตลอดการตั้งครรภ์เพราะการอัลตราซาวด์สามารถตรวจได้หลากหลาย เช่น หาความผิดปกติของทารก ดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ดูภาวะรกเกาะต่ำ เป็นต้น
  • ตรวจวัดน้ำตาลในเลือด เพื่อหาโรคเบาหวานที่เกิดจากการตั้งครรภ์ ซึ่งปกติจะตรวจในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ หากแม่เป็นเบาหวานจะส่งผลให้ลูกมีขนาดตัวที่ใหญ่ทำให้คลอดได้ลำบาก
  • เจาะน้ำคร่ำ ซึ่งจะทำในแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป สามารถเจาะได้ในช่วงอายุครรภ์ 15-18 สัปดาห์ เพื่อหาความผิดปกติของหลอดประสาทได้แม่นยำถึง 99% และโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ เกือบ 100%(7)
  • ตรวจ Doppler ultrasound โดยใช้คลื่นเสียงเพื่อตรวจสอบการไหลเวียนเลือดจากแม่ไปยังรกและทารกในครรภ์ปกติ
  • ส่องกล้องตรวจทารกในครรภ์ (Fetoscopy) แพทย์จะใช้วิธีนี้เมื่อทารกในครรภ์มีโอกาสพิการสูง โดยหาความผิดปกติอื่นๆ ที่ไม่สามารถตรวจพบได้จากการเจาะน้ำคร่ำ การตรวจชิ้นเนื้อรก(7)

การตรวจครรภ์ในช่วงไตรมาสสาม

  • ตรวจหาเชื้อ Group B Streptococcus (GBS) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้ทารกแรกเกิดมีความผิดปกติด้านการมองเห็น สติปัญญา และการได้ยิน ซึ่งทารกจะติดเชื้อได้ระหว่างคลอด แพทย์จึงตรวจหาในช่วงอายุครรภ์ 35-37 สัปดาห์ เพื่อหาแนวทางป้องกันเมื่อคลอด(8)
  • ติดตามการเต้นของหัวใจทารก โดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถตรวจดูได้หลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ การเต้นของหัวใจทารกสามารถบอกได้ว่าทารกมีสุขภาพดีหรือไม่
  • ตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ (Non – Stress Test, NST) เป็นการใช้เครื่องคาดไว้หน้าท้องแม่ ในบางรายสามารถตรวจได้เมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ แต่ในบางรายตรวจตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป แพทย์ใช้การตรวจนี้ก็ต่อเมื่อกรณีที่ลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้น น้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ เป็นโรคเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจ และตั้งครรภ์เกิน 42 สัปดาห์(9)
  • ตรวจ contraction stress test (CST) คือการตรวจสอบภาวะสุขภาพของทารกในครรภ์ขณะที่มีการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งทำในแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อติดตามการเต้นของหัวใจทารกขณะที่มดลูกหดรัดตัว ทำได้โดยฉีดยา oxytocin และการกระตุ้นหัวนม(8)
  • ตรวจ Biophysical profile (BPP) ซึ่งคือ การอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ นับการเต้นของหัวใจ การหายใจของทารก พร้อมทั้งดูการเคลื่อนไหวของทารก วัดปริมาณน้ำคร่ำ ซึ่งการตรวจนี้ถ้าสุขภาพทารกดีจะได้ค่าคะแนนที่สูง หากค่าคะแนนต่ำแพทย์จะวินิจฉัยและอาจให้คลอดก่อนกำหนด

เห็นแล้วใช่ไหมคะว่า การตรวจครรภ์ในแต่ละครั้ง แต่ละไตรมาสแพทย์จะตรวจอะไรบ้าง เมื่อพบความผิดปกติจะทำอย่างไร การฝากครรภ์และมาตรวจครรภ์ทุกครั้งจึงสำคัญมากๆ ดังนั้นคุณแม่อย่าได้ละเลยเด็ดขาด! เพราะการฝากครรภ์เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดโอกาสเกิดความพิการของทารกในครรภ์ได้

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ทำไมต้องฝากครรภ์
2. ฝากครรภ์ที่ไหนดี รีวิวตลอดการฝากครรภ์คุณต้องใช้เงินกี่บา
3. ไม่อยากให้ลูกคลอดออกมาพิการ กลัวลูกพิการต้องทำอย่างไร

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง

1. นพ.เสรี ธีรพงษ์.การตั้งครรภ์ของสตรีตัวเตี้ย. เข้าถึงได้จาก https://drseri.com/article/452.[ค้นคว้าเมื่อ 29 สิงหาคม 2561]
2. คู่มือความรู้การตรวจเลือดพ่อแม่ เพื่อดูแลลูกในครรภ์.เข้าถึงได้จาก https://thailand.unfpa.org.[ค้นคว้าเมื่อ 29 สิงหาคม 2561]
3. ความดันโลหิตของคุณแม่ตั้งครรภ์.เข้าถึงได้จาก http://paolohospital.com.[ค้นคว้าเมื่อ 31 สิงหาคม 2561]
4. บังอร พรรณลาภ.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.หัดเยอรมันกับการตั้งครรภ์.เข้าถึงได้จาก http://www.si.mahidol.ac.th.[ค้นคว้าเมื่อ 31 สิงหาคม 2561]
5. รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์.การนัดติดตามตรวจครรภ์ แพทย์นัดอย่างไร?.เข้าถึงได้โดย http://guruobgyn.com/การนัดติดตามตรวจครรภ์-แ/.[ค้นคว้าเมื่อ 31 สิงหาคม 2561]
6. Traci C. Johnson, MD.First trimester tests during pregnancy. เข้าถึงได้จาก https://www.webmd.com.[ค้นคว้าเมื่อ 1 กันยายน 2561]
7. Traci C. Johnson, MD.Second Trimester Tests During Pregnancy.เข้าถึงได้จาก https://www.webmd.com.[ค้นคว้าเมื่อ 1 กันยายน 2561]
8. Traci C. Johnson, MD.Third Trimester Tests During Pregnancy.เข้าถึงได้จาก https://www.webmd.com.[ค้นคว้าเมื่อ 1 กันยายน 2561]
9. การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ (Non – Stress Test, NST). เข้าถึงได้จาก http://www.srbr.in.th.[ค้นคว้าเมื่อ 1 กันยายน 2561]