วิตามินเอ หากได้รับมากไปอาจทำให้ทารกพิการได้ … จริงหรือ

16 September 2012
10805 view

คำถามที่คุณแม่ตั้งครรภ์ถามกันมากเป็นอันดับต้นๆ ก็คือเรื่องอาหาร ว่าต้องกินอะไรเป็นพิเศษไหมคำตอบคือไม่จำเป็น ถ้าคุณแม่กินอาหารได้ครบ 5 หมู่ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น แพ้ท้องมาก หรือ ลูกในครรภ์เจริญเติบโตไม่ได้ตามเกณฑ์

แต่ทั้งนี้ก็ยังมีคุณแม่นำขวดวิตามินรวม หรือยาบำรุงมาให้ดู และถามว่ากินได้หรือไม่ การที่จะบอกได้ว่ายาต่างๆ มีประโยชน์หรือไม่ ต้องย้อนกลับไปดูที่ การแนะนำอาหารสำหรับคนท้องว่า ตามมาตรฐานสากลที่แนะนำไว้มียาเพียง 2 ตัวเท่านั้น ก็คือธาตุเหล็ก และแคลเซียม จะต้องมีเสริมบ้างในบางกรณี เช่น ถ้ามีภาวะโรคโลหิตจางทาลัสซีเมีย จะไม่ได้เสริมธาตุเหล็กมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดภาวะธาตุเหล็กเกิน ก็จะให้เป็นโฟลิกเสริมแทน หรือบางคนที่กินอาหารมังสวิรัส อย่างเคร่งครัดโดยไม่กินเนื้อ ไข่ นมเลย ก็อาจขาดวิตามิน บี 12 กลุ่มนี้จึงควรได้วิตามินบี 12 เสริมเป็นประจำ ยาที่มีวิตามินอื่นๆ ประกอบต้องดูให้ดี โดยเฉพาะยาที่มีวิตามินบางชนิดที่มากเป็นพิเศษ เช่นวิตามิน เอ ถ้าได้รับมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ หลายคนได้อ่านมากก็เริ่มมีคำถามกับวิตามินเอตัวนี้ จะเห็นว่าหลายๆ คำถามทำให้เกิดความกังวลใจ ดังนั้นการทำความเข้าใจและรู้จักวิตามินเอให้ดี ก็จะทำให้สามารถใช้ยา หรือกินอาหารที่มีวิตามินเอได้อย่างสบายใจ วิตามินเอ มีสองรูป คือ วิตามินเอจากสัตว์ ดูดซึมในรูปเรตินอล (Retinol) เช่น ตับ นม ไข่ ชีส อีกรูปเป็นวิตามินเอจากผักและผลไม้ บางคนเรียก โปรวิตามินเอ มีสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) เช่น เบต้าแคโรทีน อัลฟ่าแคโรทีน เป็นต้น ตัวเบต้าแคโรทีน เป็นตัวที่ดูดซึมและเปลี่ยนรูปไปเป็นวิตามินเอได้ดีที่สุด มีมากในแครอท ผลไม้สีเหลืองส้ม เช่น แคนตาลูบ ลูกพีซ แอพริคอท มะม่วง ผักใบเขียวต่างๆ เช่น บร็อคโคลี่ กระหล่ำเขียว ผักขม วิตามินเอมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายๆ ด้าน เช่น ช่วยในการมองเห็น (Vision) โดยเฉพาะการมองในเวลากลางคืน การเจริญเติบโตของกระดูก การแบ่งตัวของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ดังนั้นการขาดวิตามินเอ จะทำให้เกิดอาการคันตา ตาแห้ง ตาอักเสบ อาการมองไม่เห็นเวลากลางคืน ผมแห้งและร่วง ผิวแ ห้ง เล็บเปราะ เซลล์เยื่อบุผิวอวัยวะต่างๆ ผิดปกติ ทำให้เกิดการติดเชื้อง่าย ในระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร ฟันและกระดูกไม่แข็งแรง ส่วนของทารกในครรภ์ วิตามินเอช่วยในการเจริญเติบโต และพัฒนาระบบต่างๆ ของทารก เช่นระบบ ประสาท หัวใจ ปอด ไต ตา ระบบสืบพันธุ์ กระดูก และระบบภูมิคุ้มกันร่างกายด้วย รวมถึงการทำให้แผลคุณแม่หายได้อย่างรวดเร็ว และป้องกันการติดเชื้อในช่วงหลังคลอด วิตามินเอ ปริมาณเท่าไรถึงจะเพียงพอ ตาม The Recommended daily allowance (RDA)ซึ่งกำหนดโดยองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) ได้กำหนดความต้องการของผู้หญิงปกติ ไว้ที่ 2,600 IU (International Unite : หน่วยสากล) ต่อวัน หญิงตั้งครรภ์ 3,300 IU/วัน หญิงให้นมบุตร 4,000 IU/วัน โดยแนะนำว่าไม่ควรเสริมวิตามินเอ มากกว่า 8,000 IU/วัน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของวิตามินเอด้วย โดยพบว่าวิตามินเอที่ได้จากอาหาร ผักและผลไม้ตามธรรมชาติ ซึ่งมีสารกลุ่มแคโรทีน ไม่พบความเสี่ยงในการเกิดวิตามินเอเกินปริมาณที่กำหนด เพราะจะมีการดูดซึมและเปลี่ยนรูปเป็นวิตามินเอ ได้ในปริมาณที่จำกัด จึงไม่ทำให้เกิดภาวะวิตามินเอสะสมเกินปริมาณที่กำหนด ส่วนวิตามินเอ จากสัตว์ เช่นตับ ถ้าไม่มีการกินต่อเนื่องทุกวัน ในปริมาณมากๆแล้วนั้น ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องผลเสียที่จะตามมา ดังนั้นรูปแบบเดียวที่น่าเป็นห่วงก็คือ รูปวิตามินสังเคราะห์ หรือรูปอาหารเสริม หรือรูปแบบของยา การเสริมมากเกินไป นอกจากไม่มีประโยชน์ เสียเงินเสียทองในการซื้อยา แล้วถ้าปริมาณมากเกินไปจะเกิดผลเสียตามมา โดยทั่วไปถือว่าปริมาณที่มากกว่า 25,000 IU/วัน ถือว่ามากเกินไป อันตรายที่เกิดจากวิตามินเอมากเกินไปมีดังนี้

1.        ภาวะแท้งบุตร หรือทารกพิการแต่กำเนิด ถ้าได้รับในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

2.        ภาวะตับทำงานผิดปกติ   เนื่องจากวิตามินเอที่มากเกินจะถูกนำไปสะสมที่ตับ

3.        ภาวะแร่ธาตุในกระดูกลดลง เกิดภาวะกระดูกพรุน

4.        ระบบประสาทส่วนกลางไม่ทำงาน มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาพร่ามัว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน คลินิกรักษาสิว และโรคผิวหนังเกิดขึ้นอย่างมากมาย และยาตัวหนึ่งที่ได้ถูกกจ่ายให้คนไข้เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน  เพื่อรักษาสิวอุดตันชนิดรุนแรง (Severe Acne) คือ ไอโซเตรตติโนอีน (Isotretinoin) มีชื่อการค้าว่า แอคคิวเทน (Accutane) หรือ โรแอคคิวเทน (Roaccutane) เป็นอนุพันธุ์ของกรดวิตามินเอเข้มข้น (Retinoic acid) เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่ม X (Category X) ซึ่งห้ามใช้อย่างเด็ดขาดขณะตั้งครรภ์ การใช้ยาในระดับสูงและเวลาที่นานพอ จะทำให้หน้าแห้ง ใส และไม่เป็นสิวอุดตัน ได้หลายๆปี เพราะยาดังกล่าวสามารถลดขนาดของต่อมไขมัน (Sebum gland)บนใบหน้าได้ แต่ยาดังกล่าวมีผลต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้สูงถึงร้อยละ 30โดยเฉพาะการใช้ยาในช่วงที่เด็กทารกกำลังสร้างอวัยวะต่างๆในร่างกาย คือ ในช่วง 7 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยอวัยวะที่มีผล คือ พบความผิดปกติของระบบประสาท สมองและหัวใจ ได้มากกว่าคนปกติ(ที่ไม่ได้ใช้ยา) ถึง 25 เท่า นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติของใบหน้าและ ตา ปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหูผิดรูป รูหูไม่พัฒนา  หรือตีบตัน จนกระทั่งไม่มีใบหูเลย  นอกจากนี้การใช้ยาหลังระยะเวลาดังกล่าว ยังพบความสัมพันธ์กับการเกิดความผิดปกติของระบบแขนขา และระบบขับถ่าย-สืบพันธุ์ (Genito-urinary system) ของทารกในครรภ์ได้ รวมถึงยาชนิดนี้ในกลุ่มยาทาผิวหรือทาหน้า (Tropical) แม้จะมีปริมาณ กรดวิตามินเอน้อยกว่า แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในขณะตั้งครรภ์ ดังนั้นผู้ที่ได้รับยาชนิดนี้ไม่ว่าชนิดกินหรือทา ควรคุมกำเนิดอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้  เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ และเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ก็ควรหลีกเลี่ยงยาในกลุ่มนี้ตลอดการตั้งครรภ์ และการได้รับยาบำรุงครรภ์ชนิดที่เป็นธาตุเหล็ก บางชนิดบางยี่ห้ออาจมีส่วนผสมของวิตามินหลายชนิด รวมถึงวิตามินเอด้วย บางชนิดมีปริมาณวิตามินเอในระดับสูง การใช้ยาดังกล่าว ควรอยู่ในการดูแลของสูตินรีแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง และยาที่ไม่แน่ใจควรนำไปปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

 

พว.นฤมล  เปรมปราโมทย์   เรียบเรียง
ขอบคุณบทคทวามจาก โดย นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข
ขอบคุณภาพประกอบจาก  http://www.mumsnet.com/