อาการชักในเด็กแรกเกิด
เป็นอาการที่มีความสำคัญมากอย่างหนึ่ง และพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด โดยเฉพาะทารกในหออภิบาลทารกแรกเกิด โดยพบได้ร้อยละ 25 ของทารกที่รับการรักษาในหออภิบาลทารกแรกเกิด ซึ่งร้อยละ 85 เกิดขึ้นภายในอายุ 15 วัน และร้อยละ 65 เกิดขึ้นระหว่างอายุ 2 – 5 วัน อาการชักเป็นสิ่งแสดงสิ่งแรกที่พบบ่อยเมื่อสมองเริ่มทำงานผิดปกติ หากปล่อยให้ทารกแรกเกิดชักอย่างรุนแรง ชักติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือชักซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เรื่อยๆ จะเกิดการทำลายในเนื้อสมองของทารกไม่มากก็น้อย ดังนั้นการที่ทารกแรกเกิดมีอาการชักจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพยายามหาสาเหตุเพื่อแก้ไขต่อไป
อาการชักในเด็กแรกเกิด ชักคืออะไรแม่ต้องรู้
ชักเป็นอาการทางคลินิกของระบบประสาทที่ทำงานผิดปกติเป็นพักๆ ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมการเคลื่อนไหว และ/หรือเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น มีกาเปลี่ยนแปลงของอัตราการหายใจ การแกว่งขึ้นลงของความดันโลหิต เป็นต้น การชักที่เกิดขึ้นนี้จะมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง ที่เรียกว่าคลื่นไฟฟ้าของการชัก ร่วมด้วย หรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ประมาณร้อยละ 60 ของทารกที่มีอาการชัก แต่ไม่มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง แต่อย่างไรก็ตามทารกแรกเกิดอาจมีพฤติกรรมการเคลื่อนไหวหลายๆ อย่างที่ดูคล้ายชักได้ เช่น อาการบิดตัว หน้าตาแดง เป็นพักๆ ขากระตุก 1 – 2 ครั้ง ขณะหลับ อาการคล้ายผวาเมื่อตกใจ อาการสั่นระรัวของแขน ขา และคาง เมื่อทารกเคลื่อนไหวและร้องไห้ เป็นต้น
การจำแนกชนิดของอาการชักในเด็กแรกเกิด
1. Subtle seizure
เป็นอาการชักที่พบมากที่สุดของการชักในทารกแรกเกิด ส่วนใหญ่ไม่มีคลื่นไฟฟ้าสมอง ผิดปกติ พบในทารกเกิดก่อนกำหนดมากกว่าทารกครบกำหนด บางครั้งอาการเหล่านี้อาจถูกมองข้ามไป โดยจะมีอาการทั้งทางการเคลื่อนไหว และทางตา เช่น
- อาการทางตา : ลืมตาค้าง ตากระพริบถี่ๆ ตาจ้องตรง กรอกตาไปมา ในทารกแรกเกิดก่อนกำหนด ส่วนในทารกแรกเกิดครบกำหนดจะมีอาการกรอกตา จ้องไปด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง
- อาการทางการเคลื่อนไหว : ถีบขาเหมือนถีบจักรยาน เคี้ยวช้าๆ ปากเบี้ยว อาจพบอาการ แลบลิ้น แกว่งแขนเหมือนกรรเชียงเรือในทารกแรกเกิดครบกำหนดบางครั้งอาจพบอาการหยุดหายใจ แต่อย่างไรก็ตามมีข้อสรุปไว้ว่าการหยุดหายใจ อาจเกิดจากชักได้ ขณะเดียวกันการหยุดหายใจในทารกแรกเกิดก่อนกำหนดส่วนมากไม่ได้เกิดจากการชัก และหากการหยุดหายใจเกิดจากการชัก ในทารกแรกเกิดครบกำหนดอาจพบการมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่น ไฟฟ้าสมอง
2. Clonic seizure
การชักแบบนี้มักมีคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติบ่อยสุดเมื่อเทียบกับการชักแบบอื่นๆ โดยจะมีอาการกระตุกซ้ำๆ เป็นจังหวะ 1 – 2 ครั้ง/วินาที แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
- จะกระตุกที่ใบหน้า ลำตัว แขน ขา ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น และพบบ่อยว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัวขณะและหลังชัก
- จะมีการกระตุ้นเหมือนแบบแรก หากแต่มีการเคลื่อนที่จากตำแหน่งหนึ่งไปอีกตำแหน่งหนึ่ง เช่น เคลื่อนที่จากแขนไปขา หรือจากขาไปแขน หรือจากซีกหนึ่งไปยังอีกซีกหนึ่ง พบในทารกแรกเกิดครบกำหนดมากกว่า
3. Tonic seizure
จะมีอาการเกร็ง แข็งค้างอยู่ ซึ่งมีได้ 2 ลักษณะ เช่นกันคือ
- เกร็งเฉพาะที่คอ ลำตัว แขน และ/หรือ แขน ขา ที่ใดที่หนึ่ง มักพบร่วมกับการมีคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ
- เกร็งทั้งตัว รวมทั้งแขน ขา ทั้งสองข้าง คลื่นไฟฟ้าสมองมักจะปกติ พบได้บ่อยในรายที่มีเลือดออกในช่องสมองอย่างรุนแรง
4. Myoclonic seizure
การชักลักษณะนี้ต่างจาก clonic seizure ตรงที่การชักลักษณะนี้ จะกระตุกเร็วกว่า และมักจะเกิดเฉพาะกับกล้ามเนื้อกลุ่มพับงอ
การดูแลและสังเกตลูกน้อยเป็นเรื่องที่สำคัญหากเกิดอาการผิดปกติ การที่ทารกแรกเกิดมีอาการชักจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพยายามหาสาเหตุคุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อแก้ไขต่อไป
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
1. ป้องกันการชักจากไข้สูงในเด็กได้อย่างไร แม่มือใหม่ต้องรู้
2. การดูแลเมื่อลูกชักจากไข้สูงและสิ่งห้ามทำเมื่อลูกชัก
3. 5 โรคอันตรายในเด็ก ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team