ข้อควรรู้ ยาที่คนท้องกินได้ และยาที่คนท้องห้ามกิน

19 August 2012
59984 view

ยาที่คนท้องห้ามกิน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อันตรายของยาต่อทารกในครรภ์
ขณะตั้งครรภ์ สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ก็คือการใช้ยา เพราะการใช้ยาที่แรงเกินไป ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการสร้างอวัยวะของตัวอ่อนในครรภ์ ช่วงอันตรายที่สุด คือ ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ อย่าซื้อยากินเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง  ยา กับการตั้งครรภ์นั้นมีอันตรายเกินกว่าที่คุณแม่หลายๆคนคาดไม่ถึง ดังรายละเอียดต่อไปนี้ค่ะ

ยาที่คนท้องห้ามกิน ส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์

องค์การอาหารและยาได้มีการแบ่งขั้นของยาเป็น A B C D และ X เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยากับกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ ไว้ดังนี้คะ

ลำดับขั้นของยาต่อการตั้งครรภ์ A ข้อมูลจากการศึกษาในคนไม่พบว่ามีอันตรายต่อทารกในครรภ์

ลำดับขั้นของยาต่อการตั้งครรภ์ B  ข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองไม่พบอันตรายต่อลูกสัตว์ในครรภ์แต่ไม่มีข้อมูลในคน หรือ มีข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ามีผลกระทบต่อลูกสัตว์ในครรภ์แต่ข้อมูลจากการศึกษาในคนไม่พบว่ามีอันตรายต่อทารกในครรภ์

ลำดับขั้นของยาต่อการตั้งครรภ์ C มีข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองว่ามีผลกระทบต่อลูกสัตว์ในครรภ์แต่ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาในคน หรือ ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทั้งในคนและในสัตว์

ลำดับขั้นของยาต่อการตั้งครรภ์ D มีข้อมูลว่าจากการศึกษาในคนว่ามีผลกระทบต่อทารกในครรภ์แต่ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยายังเป็นที่ยอมรับได้อยู่

ลำดับขั้นของยาต่อการตั้งครรภ์  X  มีข้อมูลชัดเจนว่ามีอันตรายต่อทารกในครรภ์

ยาดูดซึมสู่ทารกในครรภ์ได้อย่างไร 

การใช้ยาส่งผลต่อทารกในครรภ์ด้วยเพราะยาในกระแสเลือดของแม่จะซึมผ่านรก เข้าสู่กระแสเลือดของทารกในครรภ์ได้ เช่นเดียวกับน้ำ สารอาหารและออกซิเจนที่ทารกได้รับทางสายสะดือ  ยาจะส่งผลต่อทารกในครรภ์มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ อายุครรภ์ ชนิดของยา และขนาดของยาที่แม่ได้รับ

อายุครรภ์ กับ อันตรายจากยา

หลังจากจากผ่านกระบวนการปฎิสนธิแล้วเซลล์ได้ที่รับการปฏิสนธิจะเดินทางมาฝังตัวที่ผนังมดลูก เจริญเติบโตไปเป็นทารก ปกติทารกในครรภ์แม่จะมีอายุอยู่ประมาณ 9 เดือน จึงจะคลอดออกมาเป็นทารก ในระหว่าง 9 เดือนที่ทารกเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์แม่นี้ ยาอาจส่งผลต่อทารกและเกิดความรุนแรงได้ตามอายุครรภ์ดังนี้

  • เริ่มตั้งแต่วันที่ปฏิสนธิถึงวันที่ 20 ของทารก (ประมาณ 3 สัปดาห์แรก) ถ้าแม่ได้รับยา หรือสารเคมีที่มีอันตรายต่อทารก อาจทำให้เกิดการแท้งหรือทารกเสียชีวิตได้
  • ระหว่างสัปดาห์ที่ 3-8 หลังการปฏิสนธิ หากแม่ตั้งครรภ์ ได้รับยาที่มีอันตรายจะส่งผลต่อระบบอวัยวะทุกส่วนของทารก ซึ่งอาจทำให้ผิดปกติได้ มีอาการไม่ครบ 32 เพราะในระยะนี้เป็นระยะที่ทารกในครรภ์ เริ่มแบ่งตัวแยกออกเป็นอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  • ช่วงเดือนที่ 4 – 9 ทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างเสริมอวัยวะต่างๆ ที่แยกอย่างเด่นชัดในช่วง 3 เดือนแรกให้เจริญเติบโตต่อจนเป็นอวัยวะที่สมบูรณ์ ถ้าใคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้รับยาจะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของอวัยวะ

ยาที่คนท้องห้ามกิน มีอะไรบ้าง

ชนิดและขนาดของยา เป็นปัจจัยสำคัญต่อความพิการของทารกในครรภ์ ตัวอย่างยาที่ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ที่พบสถิติบ่อยที่สุดมีดังต่อไปนี้

     1. ยา Isotretinoin ซึ่งเป็นยากินใช้รักษาสิวหัวช้างและสิวชนิดรุนแรง และโรคสะเก็ดเงิน อาจทำให้ทารกไม่สมประกอบ ผิดรูปร่างไปได้

     2. ยารักษาโรคมะเร็ง อาจเป็นพิษต่อทารก ทำให้เกิดปากแหว่ง เพดานโหว่ และผิดรูปร่างได้

     3. ฮอร์โมนเพศ อาจส่งผลต่อการพัฒนาการของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ และการสืบพันธุ์ของทารกให้ผิดปกติได้

     4. ยากันชัก เช่น phenytoin, carbamazepam อาจส่งผลผิดปกติต่อหัวใจ รูปใบหน้า และปัญญาอ่อนได้

    5. ยารักษาโรคไมเกรนกลุ่ม ergotamine ส่งผลต่อการบีบตัวของมดลูก อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้

     6. ยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟน ซึ่งเป็นยาแก้ปวดลดไข้ แก้อักเสบ อาจส่งผลรบกวนการแข็งตัวของเลือด และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ได้

     7. ยารักษาต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เช่น propylthiouracil อาจทำให้เกิดคอพอกเป็นพิษได้

     8. ยาต้านแบคทีเรียกลุ่มเตตราไซคลีน มีผลไปเกาะกับกระดูกและฟัน ทำให้เด็กมีกระดูกและฟันไม่สมบูรณ์ ฟันเป็นสีเหลืองและฟันผุได้ง่าย


ยาที่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ 

ยาที่มีการใช้บำบัดอาการเจ็บไข้ไม่สบายของหญิงตั้งครรภ์ ที่มีการใช้อยู่บ้างตามอาการของโรคที่พบบ่อยมีดังนี้

     1. ยาลดไข้แก้ปวด ยาที่ถือว่าปลอดภัยที่สุด สำหรับทารกในครรภ์แม่ คือ ยาพาราเซตามอล (อะซีตามิโนเฟน) ในผู้ใหญ่จะใช้ขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง เวลาปวดหรือเป็นไข้

     2. ยาลดน้ำมูกแก้แพ้ ยาที่นิยมใช้และปลอดภัยที่สุด คือ ยาคลอร์เฟนิรามีน หรือยาเม็ดแก้แพ้อากาศเม็ดสีเหลือง ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ในผู้ใหญ่จะใช้ขนาดเม็ดละ 4 มิลลิกรัม ครั้งละครึ่ง-1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ยาลดน้ำมูกแก้แพ้ อาจทำให้ง่วงซึม หลังรับประทานยา แม่ตั้งครรภ์ควรพักผ่อน ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้

     3. ยาปฏิชีวนะ  คุณแม่ตั้งครรภ์อาจเลือกใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน เช่น เพนิซิลลิน-วี แอมพิซิลลิน หรืออะม็อกซีซิลลิน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ปลอดภัยสำหรับทารกในครรภ์เเพทย์นิยมใช้ อะม็อกซีซิลลิน แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้มีการแพ้ยาสูงเป็นอันดับหนึ่ง จึงใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติแพ้ยากลุ่มเพนิซิลลิน เพราะอาจเป็นอันตรายซึ่งในบางคนเป็นรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้

     4. ผงเกลือแร่ ผงเกลือแร่จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่สามารถใช้เพื่อทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ เนื่องจากท้องเสีย ท้องเดิน หรืออุจจาระร่วงได้ แต่ยาไม่ได้มีผลต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เพราะฉะนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจได้รับยาเพิ่มควรปรึกษาแพทย์

อ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ว่าที่คุณแม่คงทราบดีแล้วนะคะว่า ยา  นั้นอันตรายต่อทารกในครรภ์มากแค่ไหน หากมีปัญหาสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ ห้าม ซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาสูติแพทย์ หรือเภสัชกร และควรพูดให้เป็นนิสัยว่า ขณะนี้คุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่กี่เดือน  เพื่อความปลอดภัยต่อลูกรักของเราค่ะ