ปัญหาการให้นมลูก
คุณแม่หลายๆท่านต้องการเลี้ยงลูกน้อยด้วยนมของแม่ เพราะนมของแม่มีประโยชน์มากมาย ส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพของลูกน้อย แต่ก็มักจะพบกับปัญหาในการให้นม เช่น นมคัด น้ำนมมาน้อยหรือน้ำนมไม่เพียงพอต่อลูกน้อย หัวนมแตก และคุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน วันนี้ mamaexpert มีเคล็ดลับดีๆ ในการป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกิดกับคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมมาฝาก
ปัญหาการให้นมลูกและวิธีป้องกันแก้ไขที่แม่ควรรู้
1. นมคัด
- ประคบด้วยน้ำร้อน หรือน้ำร้อนสลับกับน้ำเย็น
- ให้ลูกดูดนมให้บ่อยขึ้น
- ใช้มือบีบน้ำนมออก
- ใส่ยกทรงพยุงเต้าตลอดเวลา
2. น้ำนมไม่พอในระยะหลังคลอดใหม่ๆ
ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้สึกของแม่และผู้ใกล้ชิดโดยที่ระยะ 7 วันแรกหลังคลอด การหลั่งน้ำนมยังไม่เต็มที่ ลูกอาจจะร้องบ่อย กวน หรือดูดนมแล้วน้ำนมไหลไม่ดี ทำให้แม่กลัวว่าลูกจะได้น้ำนมไม่พอ จึงพยายามหาน้ำ น้ำตาล น้ำผึ้ง หรือนมผสมให้ดูด หากการปฏิบัติเป็นเช่นนี้จะทำให้ลูกดูดนมแม่น้อยลง การกระตุ้นการหลั่งน้ำนมไม่ดี น้ำนมจะไหลน้อยลงอีก ควรแก้ไขโดยแม่ควรให้ความอบอุ่นแก่ลูก ให้ดูดนมบ่อยๆ และดูดนมให้ถูกวิธีรวมทั้ง แม่ควรกินอาหารให้เต็มที่ ไม่กังวล จะทำให้มีน้ำนมเพิ่มเป็นปกติ
3. น้ำนมน้อย
- แม่กินอาหารให้เพียงพอ กินได้ทุกอย่างไม่มีของแสลงโดยเฉพาะกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรกินอาหารพวกเนื้อสัตว์และถั่วให้มากๆ
- ให้ลูกดูดนมให้ถูกวิธีบ่อยๆ และนานๆ
- ดื่มน้ำให้มากๆ
- งดเหล้า ยาดอง
- พักผ่อนและทำจิตใจให้สบาย มีความมั่นใจว่า จะมีน้ำนมเพียงพอสำหรับลูก
4. หัวนมแตก
- ป้องกันโดยการเตรียมหัวนมให้พร้อมสำหรับให้ลูกดูด ตั้งแต่ระยะเดือนครึ่งก่อนคลอด โดยการคลึงหัวนมเบาๆ
- ให้นมลูกด้วยวิธีที่ถูกต้อง ดังนี้
- สอดหัวนมเข้าปากลูกให้ถูกต้อง
- อย่าดึงหัวนมออกจากปากลูกให้ใช้วิธีกดคางหรือกดมุมปากลูกเบาๆ ลูกจะคายหัวนมเองอย่าให้ลูกหลับคาหัวนม
- เมื่อมีหัวนมแตก ถ้าทนได้ให้ดูดข้างที่ปกติก่อน แล้วดูดข้าง ที่หัวนมแตกที่หลัง ถ้าเจ็บมากให้งดดูดข้างที่แตกชั่วคราว
- ระวังอย่าให้หัวนมเปียกชื้น หลังจากให้ลูกงดดูดนมแม่แล้วควรให้หัวนมแห้งก่อนใส่เสื้อ
5. เต้านมอักเสบ
- ถ้าหากไม่ปรากฏเป็นฝีหนองชัดเจน ให้ลูกดูดได้บ่อยครั้งอาจจะบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ถ้าอาการไม่ทุเลา หรือเป็นฝีหนองให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
6. แม่ที่ทำงานนอกบ้าน
- ช่วงระยะพักหลังคลอด ควรเลี้ยงลูกให้เต็มที่ด้วยนมแม่อย่างเดียว
- ให้นมแม่ในเวลาเช้าก่อนทำงาน เวลาหลังกลับทำงาน และเวลาที่อยู่บ้าน
- ถ้าแม่มีน้ำนมมากพอ ให้บีบนมจากเต้านมใส่ขวดแช่เย็นเก็บไว้ให้มื้อต่อไป วิธีบีบนม ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับบริเวณขอบนอกลานนม กดเข้าลำตัว แล้วบีบนิ้วทั้งสองเข้าหากัน ทำเป็นจังหวะเหมือนกับลูกดูดนม
- ช่วงที่แม่ยังไม่กลับจากทำงาน ถ้ามีความจำเป็นต้องให้อาหารอื่นแทนนมแม่ในบางมื้อให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
7. การใช้ยาระหว่างให้นมลูก
- ควรงดกินยาทุกชนิด ถ้าจำเป็นต้องกินควรปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก่อน
- ยาคุมกำเนิด ปัจจุบันมีชนิดที่ไม่กระทบกระเทือนต่อการหลั่งน้ำนม ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขถึงการใช้ยาชนิดนั้นหรือเปลี่ยนเป็นวิธีการคุมกำเนิดชนิดอื่น เช่น การใส่ห่วงอนามัย ฯลฯ
8. อาหารเสริมสำหรับแม่และลูก
- น้ำนมแม่มีประโยชน์และเพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูทารกไปจนถึงอายุ4 – 6 เดือน หลังจากนั้น ปริมาณการผลิตน้ำนมจะลดลงจาก 850 ซีซีต่อวัน เป็น 500 ซีซีต่อวัน ประกอบกับทารกตัวโตขึ้น ดังนั้น อาหารเสริมจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ทารกเจริญเติบโตได้ตามปกติเมื่อเด็กอายุ 1 ปีแล้ว มีความต้องการอาหารแบบผู้ใหญ่เป็นอาหารหลัก และนมแม่เป็นอาหารเสริม การให้อาหารเสริมระหว่างมื้ออาหารหลักยังคงเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ในระหว่างที่ตั้งครรภ์หรือช่วงให้นมลูก แม่ก็ต้องการอาหารเสริมเพิ่มเติมเช่นกัน
บทความแนะนำเพิ่มเติม
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
ขอบคุณข้อมูลจาก : กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข