9 ข้อปฏิบัติ วิธีการให้นมลูกน้อยที่ถูกต้อง

18 October 2017
7392 view

วิธีการให้นมลูกน้อย

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นกรรมวิธีที่สำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพทารก ซึ่งเป็นพื้นฐานของสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพ น้ำนมเป็นอาหารที่ดีที่สุด และเหมาะสมกับความต้องการของทารกมากที่สุด ทำให้ทารกเจริญเติบโต ทั้งร่างกายและจิตใจอย่าง กลมกลืนกัน วันนี้ mamaexpert มีวิธีการให้นมลูกน้อย เพื่อเตรียมความพร้อมในการกระตุ้นอย่างถูกวิธี

วิธีการให้นมลูกน้อยที่แม่ต้องรู้

  1. ก่อนให้นมลูกทุกครั้ง แม่ต้องล้างมือให้สะอาดล้างหรือเช็ดเต้านมและหัวนมด้วยน้ำสะอาด
  2. แม่ควรอยู่ในท่าที่สบาย จะนั่งหรือนอนก็ได้ถ้าลูกเล็กอยู่อาจใช้หมอนหรือเบาะวางบนตักแม่เพื่อรองรับเด็ก ให้ปากเด็กอยู่ในระดับหัวนมแม่ แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้หรือนิ้วชี้กับนิ้วกลางวางคร่อมหัวนมบนผิวหนังสีคล้ำๆรอบหัวนม และกดลงเล็กน้อยเพื่อให้หัวนมยื่นออกมามากขึ้น ใช้หัวนมเขี่ยเบาๆ ที่มุมปากลูกเพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปาก และหันมาหาหัวนม แล้วจึงสอดหัวนมเข้าปากลูกให้ลึกพอควร ให้เหงือกของลูกอมอยู่บนผิวหนังสีคล้ำรอบหัวนม นิ้วมือที่วางอยู่บนผิวหนังสีคล้ำรอบหัวนมนั้น จะช่วยกดเต้าไม่ให้อุดจมูกลูกด้วย
  3. วันแรกๆ ให้ดูดทุกๆ 3 ชั่วโมง ต่อไปจึงค่อยๆ ปรับให้เข้ากับความต้องการของเด็ก การที่เด็กร้องไม่จำเป็นต้องหิวเสมอไปอาจเป็นเพราะผ้าอ้อมเปียก ร้อนหรือเย็นเกินไป ไม่สบาย มดหรือแมลงกัด หรือต้องการให้อุ้มก็ได้
  4. แต่ละมื้อให้ดูดนมทั้ง 2 ข้าง ในมื้อถัดไปให้เริ่มข้างที่ดูดค้างไว้จากมื้อก่อน
  5. ควรให้ลูกดูดนานพอควร เช่น ในวันแรกดูดข้างละประมาณ 5 นาที วันที่สองประมาณข้างละ 10 นาทีตั้งแต่วันที่สามเป็นต้นไปข้างละประมาณ 15 นาทีซึ่งจะทำให้น้ำนมมาเร็วขึ้นและทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นด้วย น้ำนมเริ่มมีมากขึ้นในวันที่ 2-3 หลังคลอด และจะไหลเต็มที่ประมาณวันที่ 7 เป็นต้นไป
  6. ในระยะ2-3วันแรก น้ำนมจะมีน้อย แต่ไม่จำเป็นต้องให้นมผสมเพิ่ม หลังจากที่ดูดนมแม่แล้วถ้าเด็กร้องให้ดูดน้ำต้มสุกอย่าผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งในน้ำดื่ม
  7. เพื่อป้องกันไม่ให้หัวนมถลอกเป็นแผล เมื่อลูกดูดนมเสร็จแล้วก่อนที่จะเอาหัวนมออกจากปาก ควรใช้นิ้วก้อยสอดไประหว่างมุมปากลูกแล้วค่อยๆ ดึงหัวนมออก
  8. ก่อนเอาลูกลงนอนควรอุ้มขึ้นพาดบ่าให้เรอเสียก่อน หรืออาจช่วยตบหลังเบาๆ ไปด้วย เพื่อช่วยให้เรอก็ได้
  9. หลังให้นมลูกแล้ว เพื่อป้องกันหัวนมแตกและทำให้น้ำนมไหลสะดวกในมื้อต่อไป แม่ควรเช็ดล้างหัวนมด้วยน้ำสะอาด

บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่

1. ลูกดูดนมข้างเดียว แก้อย่างไรดี

2. น้ำนมแม่พุ่งแรง แก้อย่างไรดี

3. อายุของนมแม่แช่แข็ง

เรียบเรียงโดย  :  Mamaexpert Editorial Team 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กลุ่มภารกิจด้านพัฒนาการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข