ทีมนักวิจัยพบแมงกะพรุนกล่องและกะพรุนพิษในทะเลชนิดใหม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ภายใน 2 - 3 นาที
วันนี้ (2 ส.ค. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.อุษาวดี เดชศรี นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน เปิดเผยว่าได้ร่วมกับ ผศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมาณ 10 คน ออกสำรวจฝูงแมงกะพรุนกล่องและแมงกะพรุนพิษบริเวณอ่าวบุญคง ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง ตามโครงการสำรวจและรวบรวมความหลากชนิดของแมงกะพรุนและแมงกะพรุนพิษ
โดยเริ่มสำรวจมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 รวม 10 ครั้ง แต่เนื่องจากเป็นช่วงมรสุมทำให้คลื่นลมแรง ไม่สามารถออกไปยังแหล่งอาศัยของฝูงแมงกะพรุนพิษได้ ทีมนักวิจัยฯ จึงได้วางอวนดักจับแมงกะพรุนพิษตามแนวชายฝั่ง โดยพบแมงกะพรุนไฟ 1 ตัวและดีเอ็นเอของแมงกะพรุนพิษอีกจำนวนหนึ่ง โดยทีมนักวิจัยฯ จะนำไปตรวจหาดีเอ็นเอว่าเป็นแมงกะพรุนกล่องหรือแมงกะพรุนพิษชนิดใดบ้าง
แต่จากการสำรวจตั้งแต่ปลายปี 59 พบว่าในท้องทะเลตรังมีแมงกะพรุนทั้งหมด 6 ชนิดในจำนวนนี้เป็นแมงกะพรุนกล่องจำนวน 3 ชนิดคือ NORBAKKA , CHIROPSOIDESและ CHIRONEX นอกนั้นเป็นแมงกะพรุนไฟ, แมงกะพรุนลายจุด และแมงกะพรุนลอดช่อง และสิ่งที่น่าตกใจคือเมื่อช่วงเดือนก.ค. ที่ผ่านมา พบแมงกะพรุนกล่องชนิดใหม่ที่หากสัมผัสบริเวณลำตัวมากกว่าร้อยละ 50 อาจทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็วหรือประมาณ 2 - 3 นาที โดยพบว่าในเดือนพ.ค. 60 แมงกะพรุนพิษจะมีขนาดเล็กหรือเป็นวัยอ่อน แต่ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงลมมรสุมพบว่าแมงกะพรุนพิษมีขนาดใหญ่ขึ้น และเพิ่มปริมาณมากขึ้น ซึ่งผู้ที่ถูกพิษแมงกะพรุนพิษมากที่สุด ได้แก่ชาวประมงที่ออกไปวางอวนดักจับสัตว์น้ำ ส่วนนักท่องเที่ยวมักจะไม่ลงเล่นน้ำทะเลในช่วงมรสุม
ซึ่งแมงกะพรุนกล่องที่พบใน จ.ตรังทั้ง 3 ชนิด ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งทีมนักวิจัยยังคงออกเก็บตัวอย่างเป็นประจำทุกเดือน เพื่อเฝ้าระวังการแพร่กระจายของแมงกะพรุนพิษ โดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่องชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบในทะเลตรัง ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนผ่านทางเฟซบุ๊กของกรมทรัพยากรทางทะเล ทุก 100 ตารางเมตร ว่ามีแมงกะพรุนพิษจำนวนเท่าไหร่มากน้อยแค่ไหน
ขอบคุณข่าว: http://www.workpointtv.com/news/44693