โรคตุ่มน้ำพองใสในเด็ก
โรคตุ่มน้ำพองใสในเด็กหรือ Epidermolysis bullosa ตัวย่อทางการเเพทย์ EB หรือในต่างประเทศเรียกว่า butterfly children เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะของผิวเปราะบางเหมือนปีกผีเสื้อ มาดูรายละเอียดของโรคตุ่มน้ำพองใสในเด็กไปพร้อมกับ Mamaexpert กันค่ะ
โรคตุ่มน้ำพองใสในเด็กเกิดจากอะไร
โรคตุ่มน้ำพองใสในเด็กเป็นโรคผิวหนังชนิดนี้ ที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ซึ่งพบได้ไม่บ่อย เกิดจากความผิดปกติของยีนส์ที่ควบคุมการสร้างผิวหนัง ถ่ายทอดทางยีนส์เด่น ลักษณะผิวหนังจะพองเป็นตุ่มน้ำ เมื่อมีการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย อาจพบตั้งแต่แรกเกิด วัยทารก หรือเด็กโต
โรคตุ่มน้ำพองใสในเด็กพบได้บ่อยหรือไม่
ในต่างประเทศพบว่าในเด็กแรกเกิด1ล้านคน พบป่วยเป็นโรคตุ่มน้ำพอง 30คน ส่วนในประเทศไทยยังไม่ทราบอุบัติการณ์ที่แน่ชัด แต่จากสถิติจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีจะพบผู้ป่วย EB ประมาณ 10 รายต่อปี ลักษณะทางอาการ สามารถจำแนกได้แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ตามรอยแยกของตุ่มน้ำ คือ
- กลุ่มที่ 1 เรียกว่า EB simplex ตุ่มน้ำอยู่ในชั้นตื้นในชั้นหนังกำพร้า (intraepidermal) อาการไม่รุนแรง มีตุ่มน้ำพอง เป็นตั้งแต่แรกเกิด ผิวหนังหายไม่เป็นแผลเป็น
- กลุ่มที่ 2 เรียกว่า Junctional EB ตุ่มน้ำเกิดระหว่างชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ ในชั้น lamina lucida ของชั้น basement อาการรุนแรง เป็นตั้งแต่แรกเกิด ผิวหนังหายไม่เป็นแผลเป็น มักพบความผิดปกติของเล็บ และความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ และทางเดินปัสสาวะได้
- กลุ่มที่ 3 เรียกว่า Dystrophic EB ตุ่มน้ำอยู่ในชั้น หนังแท้ (dermis ) ใต้ต่อ basement membrane ตุ่มน้ำหายแล้วมีแผลเป็น
การวินิจฉัยโรคตุ่มน้ำพองใสในเด็กทำได้อย่างไร
แพทย์จะต้องอาศัยการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ทางพยาธิวิทยา ร่วมกับการตรวจทางจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (electron microscope) เพื่อให้ทราบว่ามีความผิดปกติอยู่ที่ชั้นไหนของผิวหนัง ซึ่งจะทำให้การพยากรณ์ของโรคแตกต่างกัน
การรักษาโรคตุ่มน้ำพองใสในเด็ก
โรคตุ่มน้ำพองใสในเด็กเน้นรักษาตามอาการ ที่สำคัญที่สุดคือการดูแลผิวหนังป้องกันการกระทบกระเทือนเนื่องจากผิวบริเวณที่มีการเสียดสีจะเป็นตุ่มน้ำพองออก และต้องระวังภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนที่ผิวหนัง ถ้ามีการติดเชื้อ จะต้องให้ยาปฏิชีวนะทาหรือรับประทาน ให้อาหารและวิตามินให้เพียงพอและข้อสำคัญต้องให้คำแนะนำทางพันธุกรรมแก่พ่อแม่ เพื่อไม่ให้เกิดโรคในลูกคนต่อไป
โรคตุ่มน้ำพองใส เป็นโรคเรื้อรัง ขึ้นกับชนิดของโรค ในรายที่ไม่รุนแรง อาการดีขึ้นเมื่อโตขึ้น ในรายที่รุนแรง อาการจะเป็นตลอดชีวิต และต้องหาความผิดปกติภายในร่วมด้วยเพราะฉะนั้นหากลูกมีอาการคล้ายดังที่กล่าวมานี้ อย่าชะล่าใจ ควรพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรซื้อยาทาเอง
บทความแนะนำเพิ่มเติม
3. 5 โรคอันตรายในเด็ก ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team