8 ข้อควรรู้ เกี่ยวกับสิทธิบัตรประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ในการฝากครรภ์และคลอดบุตร

16 January 2017
34149 view

คำถาม1 สามีสิทธิประกันสังคม ภรรยามีสิทธิหลักประกันสุขภาพ ภรรยาจะใช้สิทธิฝากครรภ์และคลอดบุตรที่หน่วยบริการประจำของตนเองได้หรือไม่

ได้ เนื่องจากภรรยาเป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ เมื่อจะมารับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิ ก็สามารถใช้สิทธิของตนเองได้ตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพ สำหรับสามีเนื่องจากเป็นผู้ประกันตนสามารถขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรจากสิทธิประกันสังคมได้ ปัจจุบันเหมาจ่ายในอัตรา 13,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

คำถาม2. เคยทำหมันมานานแล้ว ตอนนี้ต้องการมีบุตร จะไปขอแก้หมันที่ รพ. ตามสิทธิโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้หรือไม่

ไม่ได้ ทั้งหมันหญิงและหมันชาย เนื่องจากการผ่าตัดแก้หมันไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

คำถาม3. คลอดบุตรแล้วจะทำหมันเลย ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้หรือไม่

ได้ เพราะถือเป็นการวางแผนครอบครัว

คำถาม4. ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพในการฝากครรภ์ได้กี่ครั้ง

ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

คำถาม5. ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพในการคลอดบุตรได้กี่ครั้ง

ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ต.ค.2558

คำถาม6. เป็นผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 5 เดือน จะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพในการคลอดบุตร โดยสิทธิดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่การดูแลก่อนคลอด จนถึงการคลอดบุตรใช่หรือไม่

ใช่ เพราะผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 5 เดือนจะยังไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรตามกฏหมายประกันสังคม จึงใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ โดยขอหนังสือรับรองว่าส่งเงินสมทบไม่ครบ 5 เดือนจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ แล้วไปติดต่อขอรับบริการที่ รพ.รัฐและเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งสิทธิดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่การฝากครรภ์ การคลอดและการดูแลหลังคลอด เว้นแต่ ในระหว่างตั้งครรภ์นั้นผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบครบ 5 เดือนแล้ว ก็ให้กลับไปใช้สิทธิตามกฏหมายประกันสังคมต่อไป

คำถาม7. การทำอัลตร้าซาวด์ เพื่อต้องการทราบเพศของบุตร ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้หรือไม่

ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการตรวจที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

คำถาม8. ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องผ่าคลอดทางหน้าท้อง ทราบว่าการผ่าตัดไส้ติ่งจะลดความเสี่ยงของอาการไส้ติ่งอักเสบ ผู้ป่วยตัดสินใจผ่าตัดไส้ติ่งในคราวเดียวกัน กรณีเช่นนี้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้หรือไม่

การผ่าตัดคลอดใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ ส่วนการผ่าตัดไส้ติ่งโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่สามารถใช้สิทธิได้