วัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน
โรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน ถือเป็นโรคติดต่อที่สำคัญโรคหนึ่ง ความสำคัญของโรคนี้คือ เป็นโรคที่ติดต่อง่ายมาก และเป็นโรคที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตหรือพิการได้ จนทำให้มีการคิดค้นวัคซีนเพื่อมาใช้ในการป้องกันโรคนี้ วันนี้ Mama Expert จึงนำเกร็ดความรู้ในเรื่องของวัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน ที่เด็กทุกคนต้องฉีด แม่ทุกคนต้องรู้ มาดูกันเลยค่ะ..
โรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน ร้ายแรงหรือไม่
ทั้งโรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมันต่างเกิดจากการติดเชื้อไวรัส สำหรับโรคหัดจะติดต่อกันได้ง่าย ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ไอ ตาแดง มีผื่นขึ้น เริ่มจากไรผมมาสู่ใบหน้า ลำตัว แขนขา ในเด็กเล็กและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางปอดซึ่งมีความรุนแรงและอัตราตายสูง
โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัสโรคหัดและแพร่กระจายทางอากาศ โดยผ่านทางละอองเสมหะหรือการสัมผัสโดนสารคัดหลั่งต่างๆ จากจมูกหรือลำคอของผู้ที่มีเชื้อ ผู้ที่ได้รับเชื้อเริ่มแรกจะมีอาการเหนื่อยเมื่อยล้า มีไข้ ไอ ตาแดง และมีจุดสีขาวขึ้นในปาก ตามมาด้วยการมีผื่นสีแดงขึ้นตามผิวหนังหลังจากนั้น 3-7 วัน ผื่นมักจะเริ่มขึ้นจากใบหน้าและกระจายลงไปที่ลำตัว ในกรณีที่รุนแรงอาจมีผลต่อหูชั้นกลาง ปอดและสมอง และนำไปสู่ผลกระทบตามมาที่รุนแรงหรือแม้กระทั่งทำให้เสียชีวิต
โรคคางทูม มักมีอาการทั่วไปไม่รุนแรงได้แก่ ไข้ ต่อมน้ำลายอักเสบ อัณฑะอักเสบ บางอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ เป็นต้น
โรคหัดเยอรมัน ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง ยกเว้นเมื่อเกิดในเด็กโตและผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีอาการไข้ มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต และที่สำคัญคือหากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโรคหัดเยอรมัน มีโอกาสเสี่ยงต่อทารกตายในครรภ์หรือพิการแต่กำเนิด
จากรายงานของกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอุบัติการณ์ของโรคทั้งสามลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังมีการใช้วัคซีนอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันผู้ป่วยโรคหัดส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 9 เดือน เด็กโตที่ได้รับวัคซีนหัดเพียงครั้งเดียว และมีรายงานในผู้ป่วยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น
วัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน คืออะไร
วัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Measles-mumps-rubella vaccine ตัวย่อ MMR เป็นวัคซีนรวม 3 โรคได้แก่ โรคหัด - คางทูม - หัดเยอรมัน เพราะมีการระบาดของโรคดังกล่าวทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ จึงมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันทั้ง 3 โรคนี้ขึ้นมา โดยวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์(MMR) สามารถป้องกันโรคติดต่อทั้ง 3 โรคที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ใครบ้างต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน
- เด็กควรได้รับ 2 เข็ม ขณะอายุ12 - 15 เดือนและเข็มที่ 2 ขณะอายุ 4 - 6 ขวบ
- สตรีวัยเจริญพันธุ์ทุกคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือมีภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันแนะนำให้ฉีดโดยไม่ต้องเจาะหาภูมิ
- บุคคลทางการแพทย์ที่เริ่มเข้าทำงาน
- บุคคลที่เข้าเป็นทหาร
- บุคคลที่จบมัธยมและเข้าเรียนในสถานบันใหม่
*สตรีควรควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นระยะเวลาสามเดือนหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน
วัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน ฉีดอย่างไร
เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์จำนวนสองเข็ม เข็มแรกควรได้รับการฉีดตอนอายุหนึ่งขวบ วัคซีนMMR เข็มที่สองจะฉีดให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งทุกคน วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์สามารถฉีดร่วมกันกับวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอื่นๆ ได้หรือฉีดแยกโดยการเว้นระยะห่างออกไป 4 สัปดาห์
วัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน มีผลข้างเคียงอย่างไร
วัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน ( MMR ) จัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง อาการข้างเคียง เช่น อาการไข้ ผื่น และภาวะเกร็ดเลือดต่ำ อาจพบบ้างหลังการฉีด 1-2 สัปดาห์ แต่ไม่บ่อยนัก หรืออาจพบอาการต่อมน้ำเหลืองโต ปวดข้อและข้ออักเสบ อัณฑะอักเสบ และต่อมน้ำลายอักเสบ สำหรับอาการแพ้ เช่น ลมพิษหรือผื่นบวมแดงบริเวณที่ฉีด พบได้น้อย ส่วนปฏิกิริยาแพ้เฉียบพลันพบน้อยมาก ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและสมองพบได้น้อยมากเช่นกัน ทั้งนี้อาจเป็นความบังเอิญที่พบร่วมกันมากกว่าจะเป็นสาเหตุจากวัคซีน มีรายงานเยื่อหุ้มสมองอักเสบหลังฉีดวัคซีนคางทูมบางสายพันธุ์ ถึงแม้จะเคยมีรายงานว่าผู้ป่วยออทิสซึมหลังได้รับวัคซีนหัด แต่ยังไม่มีการศึกษายืนยันถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว
ใครบ้างที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมันได้
- ห้ามฉีดวัคซีนให้แก่หญิงตั้งครรภ์
- มีประวัติแพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีนชนิดรุนแรง
- ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ซึ่งแม้จะแพ้ไข่แบบรุนแรงสามารถให้วัคซีนได้เนื่องจากวัคซีนมีปริมาณโปรตีนไข่ต่ำ โดยแนะนำให้สังเกตอาการหลังให้วัคซีน 20-30 นาที
- ส่วนผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ติดเชื้อเอสไอวีสามารถให้วัคซีนได้หากร่างกายแข็งแรง
- ผู้ที่ได้รับเลือดหรืออินมูโนโกลบุลิน และผู้มีอาการป่วยควรเว้นระยะการให้วัคซีนออกไป
ราคาวัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน
ราคาวัคซีน ขึ้นอยู่กับสถานที่ฉีด เริ่มตั้งราคาเข็มละ 300 - 700 บาท โรงพยาบาลเอกชนค่อนข้างสูงกว่ามากค่ะ
วัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน เด็กทุกคนต้องฉีดครั้งที่สองมีความสำคัญเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในผู้ที่ได้รับวัคซีนครั้งแรกแล้วไม่ได้ผล หรือช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในกรณีที่ระดับภูมิคุ้มกันลดลงหลังการฉีกครั้งแรก โดยทั่วไปไม่แนะนำการฉีดวัคซีนนี้ก่อนอายุ 9 เดือน เนื่องจากเด็กยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้จากมารดาเหลืออยู่ค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของวัคซีนนะคะ อย่าลืมพาลูกน้อยไปรับวัคซีนให้ครบตามมาตรฐานของเด็กที่ควรได้รับด้วยค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
2. อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน
3. วัคซีนเสริม
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
อ้างอิง
สมาคมติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย.สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.โอฬาร พรหมาลิขิต และคณะ.“วัคซีน….น่ารู้”.วัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน ความจำเป็นในการฉีดครั้งสอง;หน้า 29-33.กรุงเทพฯ.[ค้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560]