สูตรนมของลูกแต่ละช่วงวัย เรื่องสำคัญที่แม่ต้องรู้!

06 May 2016
80357 view

ปริมาณนม

องค์การอนามัยโลก ( WHO ) รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขของไทย ส่งเสริมให้ทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน ดื่มนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ป้อนน้ำและอาหารเสริม และสำหรับลูกรักวัย 6 เดือนขึ้นไปต้องดูแลให้ได้รับอาหารเสริมตามช่วงวัยที่เหมาะสมและหลากหลายมีสารอาหารครบถ้วนทั้ง5หมู่ ที่สำคัญดูแลให้ลูกดื่มนมตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ และเลือกสูตรนมให้เหมาะสมตามช่วงวัยด้วย  เพราะนมสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัยประกอบด้วยสารอาหารและปริมาณที่แตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่มืออาชีพอย่างคุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับนมแต่ละสูตร รวมถึงการให้นมลูกแต่ละช่วงวัยในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วน เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายและบำรุงสมองให้ฉลาด พัฒนาการสมวัย ดังนี้

ปริมาณนมที่ลูกต้องการ

ทารกควรให้กินนมแม่อย่างเดียวถึงอายุ 6 เดือน หรือถ้าไม่ได้กินนมแม่ควรใช้นมสูตร 1 แทน  โดยใน 3 เดือนแรกให้กินนมทุก 3 ชั่วโมง หรือวันละ 8 ครั้ง ช่วงอายุ 3-4 เดือนขึ้นไป ควรให้นมทุก 4 ชั่วโมง หรือวันละ 6 ครั้ง และเริ่มให้อาหารเสริมเมื่ออายุ 6 เดือน คุณแม่ไม่ควรให้ลูกได้รับนมมากเกินไป

ความจุของกระเพาะอาหารกับปริมาณนมของทารก

ความจุของกระเพาะอาหารทารกมีขนาดจำกัด และจะขยายมากขึ้นตามช่วงวัย ดังนี้

  • อายุ  1-2 วัน ความจุของกระเพาะอาหาร 5 – 7 ซีซี
  • อายุ 3 วัน ความจุของกระเพาะอาหาร 20 – 30 ซีซี
  • อายุ 10 วัน ความจุของกระเพาะอาหาร 60 – 80 ซีซี
  • อายุ 0 – 2 เดือน ความจุของกระเพาะอาหาร 90 – 150ซีซี
  • อายุ 3 – 5 เดือน ความจุของกระเพาะอาหาร 150 – 200 ซีซี
  • อายุ 6 – 8 เดือน  ความจุของกระเพาะอาหาร 237 ซีซี

การให้ลูกดื่มนมมากเกินไป อาจทำใหลูกเเน่นอึดอัดท้อง ไม่สุขสบายร้องกวน โยเย  กุมารแพทย์แนะนำควรเริ่มให้อาหารเสริมเมื่ออายุ 6 เดือนและดื่มนมควบคู่ไปด้วย  เมื่ออายุครบ1 ปี ลูกควรได้รับนมตามช่วงวัยและอาหาร 5 หมู่ครบ 3 มื้อ

นมผงแต่ละสูตรแตกต่างกันอย่างไร

  • นมสูตร 1  หรือ นมผงดัดแปลงสำหรับทารกวัยแรกเกิด – 1 ปี  

มีการดัดแปลงให้มีส่วนประกอบใกล้เคียงนมแม่ โดยเฉพาะโปรตีน จะต้องมีปริมาณใกล้เคียวนมแม่คือ 1.3กรัม ต่อ100 มล. และเติมไขมันที่ย่อยง่าย พร้อมสารอาหารอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสมองและภูมิคุ้มกัน คุณแม่ควรดูแลให้ลูกได้รับนมในปริมาณที่เหมาะสม ตามที่ร่างกายต้องการ
เคล็ดลับการเลือกนมสูตร1เพื่อลูกรัก  :  เลือกนมที่มาจากกระบวนการสร้างน้ำนมแบบ อะโพไครน์ (APOCRINE) เช่นเดียวกับนมแม่ ซึ่งมีสารอาหารจากธรรมชาติในปริมาณสูง

  • นมสูตร 2 หรือ นมผงดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็กวัย 6 เดือน – 3 ปี 

มีการเพิ่มปริมาณโปรตีน แคลเซียมและฟอสฟอรัสจากสูตร1 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และรองรับความต้องการการใช้พลังงานจากการเคลื่อนไหวของเกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น คุณแม่ควรดูแลให้ลูกได้รับนมในปริมาณที่เหมาะสม ตามที่ร่างกายต้องการ
เคล็ดลับการเลือกนมสูตร2 เพื่อลูกรัก : เลือกนมที่สารอาหารครบถ้วนและย่อยง่าย เช่นมี CPP โปรตีนนุ่ม ย่อยง่าย สบายท้อง และมีสารอาหารช่วยพัฒนาสมองและภูมิคุ้มกัน

  • นมสูตร 3 หรือ นมผงสำหรับเด็กวัย 1 ปีขึ้นไป และทุกคนในครอบครัว 

มีการเพิ่มปริมาณโปรตีนให้มากขึ้นจากเดิม มีวิตามินและแร่ธาตุเพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง เสริมสร้างกระดูกให้เเข็งแรง และการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ลูกควรได้รับนมปริมาณที่เหมาะตามที่ร่างกายต้องการ
เคล็ดลับการเลือกนมสูตร3 เพื่อลูกรัก :   ควรเป็นนมที่ย่อยง่าย ไม่ทำให้ท้องผูกละช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ช่วยในการพัฒนาสมอง มีรสชาติดี หอมอร่อย และดื่มง่าย

เลือกนมที่ดีที่สุดให้ลูกรัก เลือกอย่างไร ?

สำหรับคุณแม่ที่มีความจำเป็นต้องเลี้ยงลูกด้วยผง ควรเลือกนมที่มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ มีกรดอะมิโน ที่จำเป็นต่อร่างกายครบทั้ง10 ชนิด ที่ มีความเป็นธรรมชาติสูง ปริมาณโปรตีนก่อแพ้ หรือ เบต้าแลคโตกลอบบูลินน้อย เพื่อลดและป้องกันการแพ้นมของลูกรัก ที่สำคัญต้องมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผลิตภัณฑ์นมให้เลือกซื้อจำนวนมากในท้องตลาด แต่ นมแม่ก็ยังถือว่าเป็นนมที่ดีที่สุดของทุกๆ ชีวิต ควรให้นมแม่เป็นทางเลือกที่หนึ่งของลูก แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ทดแทน ควรมีการเลือกอย่างละเอียดและต้องใส่ใจกับสารอาหารที่ลูกจะได้รับ ว่าเป็นสารอาหารจากธรรมชาติ หรือสารสังเคราะห์ เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสมองและร่างกายของลูกน้อยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

(1) กินนมให้สมวัย – http://www.thaihealth.or.th/Content/26752.[2016, May 6].

(2) นมผงแต่ละสูตรตามช่วงวัย-http://www.dgsmartmom.com/th/products-and-nutrition-3/products-and-nutritions.html. [2016, May 6].

(3) อาหารช่วงให้นมบุตร อาหารหลังคลอด โภชนาการหลังคลอด (Diet during breastfeeding) –http://www.thatoomhsp.com/.[2016, May 6].