ตั้งครรภ์ 7 เดือน
พัฒนาการทารกในครรภ์เมื่อตั้งครรภ์ 7 เดือน
ทารกในครรภ์ขณะนี้จะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัมโดยประมาณ ความยาวโดยเฉลี่ย 38 เซนติเมตร อัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ย150ครั้งต่อนาที อวัยวะต่างๆของลูกน้อยถูกพัฒนาอย่างสมบูรณ์แล้ว ยกเว้นระบบทางเดินหายใจยังคงพัฒนาต่อจนถึงวันคลอด ทารกในครรภ์สามารถจดจำเสียงและสัมผัสภายนอกจากคุณแม่ได้เเล้ว มีการเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจาม ดูดมือ ดูดนิ้วเท้า
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่ เมื่อตั้งครรภ์ 7 เดือน
เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ท้องโตมากขึ้น คุณแม่จะรู้สึกได้ดีถึงการเคลื่อนไหวของทารก ท้องที่โตมากขึ้นทำให้คุณแม่หายใจเร็วขึ้น เพราะมดลูกที่โตจะมาดันกระบังลมทำให้หายใจได้สั้น ๆ คุณแม่จะรู้สึกถึงความอุ้ยอ้าย เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว นอนหลับไม่ได้เต็มที่จากการที่ทารกในครรภ์จะตื่น และตัวมดลูกเองก็จะบีบตัวเป็นระยะห่าง ๆ กัน เป็นการเริ่มต้นการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นแต่ก็ไม่ถึงกับมีการเจ็บปวดเกิดขึ้น และจะบีบรัดตัวครั้งละไม่นานเกิน 30 วินาที ในระยะนี้คุณแม่ควรจะได้เข้าอบรมเรียนรู้ขั้นตอนการเตรียมคลอด เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเมื่อเจ็บครรภ์คลอดและเข้าสู่กระบวนการคลอด
- อาการท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหารมาก และท้องผูกยังคงเป็นอาการที่รบกวนคุณแม่อยู่ ขนาดของมดลูกที่โตขึ้นจะดันกระเพาะอาหารขึ้นไป หากคุณแม่รับประทานอาหารแล้วแน่นท้องมาก ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆอีกครั้งในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์นี้ อาการบวมตามมือและเท้าเกิดขึ้นเป็นปกติ เพราะร่างกายสะสมน้ำไว้มาก อาจจะสังเกตได้จากแหวนที่คับมากขึ้นผิวหนังของคุณแม่จะแพ้ง่ายมากในช่วงนี้ อาจมีผื่นขึ้น หรือเป็นสิว ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าหากเป็นมากควรไปปรึกษาแพทย์ผิวหนังอัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้น เพราะหัวใจต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี่ยงร่างกาย รก และทารก ดังนั้นอัตราการเต้นของหัวใจของคุณแม่มักจะสูงกว่าปกติประมาณ 10 – 15 ครั้งต่อนาที คุณแม่บางท่านอาจถูกตรวจพบว่ามีเสียงผิดปกติของการเต้นของหัวใจ แต่มันจะหายไปเมื่อคลอดแล้ว เต้านมของคุณแม่ยังขยายต่อไปอีก รวมถึงต่อมผลิตน้ำนมก็มีความพร้อมแล้วที่จะผลิตน้ำนมออกมาเลี้ยงทารก ในไตรมาสสุดท้ายนี้คุณแม่อาจมีน้ำนมสีเหลืองไหลออกมาเล็กน้อย เป็นเรื่องปกติ ข้อควรระวังก็คือระวังการกระตุ้นที่บริเวณนมเพราะจะทำให้มดลูกบีบตัวและเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
- อาการปวดหลัง ของคุณแม่จะเป็นมากขึ้นและบางทีส่งผ่านลงไปที่ขาทั้งสองข้าง ครึ่งหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์มีอาการปวดหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินเข้าสู่ไตรมาสที่สาม อาการเจ็บที่หลังและส่งผ่านลงไปที่ขาอาจเกิดขึ้นได้จากการที่กระดูกสันหลังส่วนล่างนูนออก จากการที่ถูกมดลูกที่มีขนาดโตขึ้นดัน ทำให้เส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บ หรือถูกกด หรือบางทีการที่คุณแม่ก้มยกของโดยท่าทางไม่ถูกต้อง หรือบิดตัวเร็วเกินไป อาจเป็นสาเหตุให้ปวดหลัง และบางครั้งอาการปวดหลังก็หายไปเมื่อทารกเปลี่ยนท่า หากคุณแม่นอนเอนหลังลงไปแล้วทำให้ไม่สุขสบาย นั่นเกิดจากการที่มดลูกที่มีขนาดใหญ่ลงไปกดอวัยวะต่างๆตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้เลือดที่ไปหัวใจมีปริมาณน้อยลงลองนอนตะแคงจะช่วยให้รู้สึกสบายมากขึ้น คุณแม่จะเริ่มลุกจากเตียงลำบากขึ้นให้นอนตะแคงก่อนแล้วใช้มือช่วยดันตัวขึ้นมา หากคุณแม่มีอาชีพที่จำเป็นต้องยืนนานๆ อาจขอถุงเท้าที่ช่วยพยุงขาจากคุณหมอ หรือพยาบาล เนื่องจากอาการของเส้นเลือดขอดอาจเป็นมากขึ้น
ภาวะเเทรกซ้อนของแม่เมื่อตั้งครรภ์ 7 เดือน
การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Labor) การคลอดก่อนกำหนดคือ การคลอดเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 การคลอดก่อนกำหนด เกิดขึ้นจากสาเหตุดังนี้
- การที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
- ครรภ์แฝด
- ได้รับการผ่าตัดบริเวณช่องท้องในขณะตั้งครรภ์ เช่นไส้ติ่งอักเสบ
- มีน้ำคร่ำปริมาณมากหรือน้อยเกินไป
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังจากตั้งครรภ์ไปแล้ว 16 สัปดาห์
- มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ
- มารดาอายุน้อยกว่า 16 ปี
- รกลอกตัวก่อนกำหนด
- มารดาสูบบุหรี่
- ทำงานที่ต้องออกแรงมากๆ
อาการแสดงของการคลอดก่อนกำหนด ได้แก่ การมีมูกเลือดออกทางช่องคลอด มีอาการเกร็งท้องเป็นๆหายๆ เป็นจังหวะ และมีน้ำเดิน
คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณแม่เมื่อตั้งครรภ์ 7 เดือน
- คุณแม่ต้องรู้จักอาการเจ็บครรภ์เตือน อาการเจ็บครรภ์เตือน เป็นอาการเจ็บท้องเกิดขึ้นจากการที่มดลูกมีการบีบรัดตัว คุณแม่อาจรู้สึกได้ว่ากล้ามเนื้อที่อยู่ล้อมรอบทารกตึงและแข็งขึ้น อาการที่มดลูกบีบตัวนี้อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ แต่ในช่วงไตรมาสที่สามนี้จะชัดเจนมากยิ่งขึ้นอาการเจ็บเตือนและเจ็บครรภ์จะคลอดจริงๆนั้น แตกต่างกันตรงที่ เจ็บเตือนนั้นปากมดลูกยังคงปิดสนิท แต่เจ็บจริงปากมดลูกจะเปิดออก อาการเจ็บเตือนมดลูกจะหดรัดตัวไม่สม่ำเสมอจะเกิดขึ้นเมื่อใด เวลาใดก็ได้ แต่เจ็บจริงนั้น มดลูกจะหดรัดตัวสม่ำเสมอ และถี่มากขึ้น เจ็บนานขึ้น มดลูกอาจบีบตัวอยู่นานถึงสองนาทีและรุนแรงมากขึ้น การเจ็บเตือนเหมือนเป็นการซ้อมความพร้อมของการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ในการคลอดที่กำลังจะเกิดขึ้น
- ทางเลือกในการคลอดบุตร ในกรณีที่การตั้งครรภ์เป็นปกติ คุณแม่สามารถเลือกที่จะคลอดทารกทางช่องคลอดแบบธรรมชาติโดยไม่ใช้เทคโนโลยีใดๆเข้ามาช่วยได้ แต่ความเป็นจริงก็คือ โรงพยาบาลมีอุปกรณ์ต่างๆครบครันที่จะเตรียมพร้อมไว้ให้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นยาระงับความรู้สึก อุปกรณ์ช่วยในการคลอดในกรณีที่คลอดยากเช่น คีม (Forceps) แวคคูอัม (Vacuum) หรือในกรณีที่ทารกอยู่ในภาวะที่ต้องทำการช่วยเหลือในทันทีต้องผ่าตัดออกมาก็สามารถใช้ห้องผ่าตัดได้เลย
เลือกอ่านอายุครรภ์อื่นๆ โดยการคลิกที่ตัวเลขค่ะ
ตั้งครรภ์ 1 เดือน | ตั้งครรภ์ 2 เดือน | ตั้งครรภ์ 3 เดือน |
ตั้งครรภ์ 4 เดือน | ตั้งครรภ์ 5 เดือน | ตั้งครรภ์ 6 เดือน |
ตั้งครรภ์ 7 เดือน | ตั้งครรภ์ 8 เดือน | ตั้งครรภ์ 9 เดือน |
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team