โรคซาง เด็กพุงโรหัวโตก้นปอด ดูแลลูกอย่างไรไม่ให้เป็นซาง

29 November 2017
54752 view

โรคซาง

.

โรคซาง เป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่อาจคุ้นหู หรือเคยได้ยินมาบ้างแล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่า การเป็นโรคซางในเด็กนั้นมีอาการอย่างไรบ้าง มีวิธีป้องกันอย่างไร มีวิธีรักษาอย่างไร วันนี้ Mama Expert  มีสาระน่ารู้เกี่ยวกับ โรคซาง มาฝากค่ะ มาดูกันเลยค่ะ..

.

.

โรคซางในเด็ก

ซาง เป็นกลุ่มอาการหรือโรค ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ตัวร้อน ไอ เจ็บคอ ลิ้นเป็นฝ้า มีเม็ดในปากคอ และระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก อาเจียน เบื่ออาหาร พยาธิ (พุงโรก้นป่อง) ในอดีตโรคซาง พบมากในเด็กต่างจังหวัด เด็กที่เป็นซางจะมีลักษณะหัวโตก้นปอด หรือเรียกอีกอย่างว่า โรคหัวโตก้นปอด หรือโรคเลี้ยงไม่โต แท้จริงแล้วเด็กที่เป็นซางนั้น คือ เด็กขาดสารอาหารประเภทโปรตีน ทำให้กล้ามเนื้อลีบเล็กทำให้เลี้ยงไม่โต ในปัจจุบันคุณแม่มีความรู้มากขึ้นให้ความสำคัญกับภาวะโภชนาการของลูกทำให้โรคซางเริ่มเลือนหายไปจากสังคมยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่ตรวจพบในเด็กต่างจังหวัดและเรียกว่า โรคขาดสารอาหาร หรือ ภาวะเลี้ยงไม่โต

โรคซางเกิดจาก

  • ความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดู โดยลูกไม่ได้รับนมแม่ตลอดระยะเวลา 6 เดือนแรก
  • การให้นมผสมที่ไม่เหมาะสมกับลูก ตั้งแต่วิธีการผสม ปริมาณการให้นม รวมทั้งชนิดของนมผสมที่ใช้
  • การเริ่มให้อาหารเสริมที่ช้าหรือเร็วเกินไป
  • การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น การให้ทานของจุบจิบจนไม่ได้ทานอาหารมื้อหลักที่สำคัญ
  • การเจ็บป่วยของร่างกาย ทำให้ได้รับอาหารน้อยลงโดยอาจจะเกิดการเบื่ออาหาร หรือมีการดูดซึมย่อยอาหารบกพร่อง

โรคซางมีอาการดังนี้ 

อาการเริ่มต้นของโรคซาง คล้ายการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โดยอาการอาจจะเริ่มต้นทันทีและมักจะเกิดในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งอาการของโรคซางที่พบบ่อย มีดังนี้

  • คุณแม่จะสังเกตได้จากการทานอาหารของลูกลดลง มีอาการเบื่ออาหาร การดูดซึม หรือระบบย่อยอาหารบกพร่อง
  • เวลานอน ลูกจะนอนหลับไม่สนิท มีอาการนอนผวาหลับ ๆ ตื่น ๆ สะดุ้งตกใจง่าย อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจ (ผลจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ)
  • ตัวผอมเหลือง กล้ามเนื้อลีบ แขนขาไม่มีแรง ตัวร้อนรุม ๆ อยู่ตลอดเวลาเหมือนมีไข้ มือเท้าเย็นทั้งที่อากาศร้อน เหงื่อออกมาก ถึงจะนอนเวลากลางคืนหัวก็เปียกและมีกลิ่นเหม็นคาว
  • มีผดผื่นขึ้นตามตัว พอผดยุบก็ท้องเสีย มีขี้ตาเหนียว ๆ ตรงหัวตาเวลาตื่นนอน มีละอองซาง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง ลิ้นเป็นฝ้า มีเม็ดซางขึ้นในปาก (เหมือนตุ่มร้อนใน) กระหายน้ำ
  • ท้องเสีย อุจจาระเหม็นคาวจัด ท้องเสียบ่อย ๆ อุจจาระกระปิดประปอย หรือมีมูกปน มีมูกตลอดเวลา เป็นหวัดบ่อย ๆ เริ่มหายใจไม่สะดวก ขอบตาช้ำ ๆ มักนอนสะดุ้ง
  • สำหรับเด็กบางคนที่อาการรุนแรง อาจจะมีพฤติกรรมทานเยอะ ไม่อ้วน หน้าตาเหมือนอดหลับอดนอน แขนขาลีบมีแต่หัว พุงโลก้นป่อง ฯลฯ

ทั้งนี้สำหรับเด็กที่มีเป็นซาง ส่วนมากจะพบอาการของโรคอื่นด้วย เช่น โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจและผิวหนัง โรคหอบหืด ขาดสารอาหาร โรคพยาธิ พัฒนาการทางร่างกายและสมองไม่สมวัย ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด และใส่ใจในทุกรายละเอียดค่ะ

โรคซาง อาจมีโรคแทรก ต้องพบแพทย์ด่วน

  • เล็บ ริมฝีปาก ผิวรอบปาก มีสีฟ้า
  • หายใจลำบาก หายใจติดขัด เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกเมื่อหายใจ
  • การกลืนมีปัญหา  น้ำลายไหลตลอดเวลา
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • เวียนศีรษะ วิงเวียน
  • การเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • มีลมพิษหรือผื่นเกิดขึ้น

สังเกตุโรคซางจากการตรวจร่างกายลูก

เกณฑ์ในการวัดว่าลูกของคุณจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคซางหรือไม่ สามารถดูได้จาก

โรคซางป้องกันได้

1.ป้องกันโรคซาง ด้วยการให้ลูกทานนมแม่

น้ำนมแม่ถือเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับลูก และยังเป็นแหล่งภูมิคุ้มกันชั้นดีอีกด้วย ซึ่งเด็กที่กินนมแม่ได้ถึง 6 เดือนจะมีร่างกายที่แข็งแรงกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่และยังมีภูมิคุ้มกันสูงไม่เจ็บป่วยง่ายๆ อีกด้วย ดังนั้นเพื่อไม่ให้ลูกเป็นซางหรือขาดสารอาหาร แม่ควรให้ลูกได้กินนมแม่เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนและถ้าให้ดีควรให้ลูกกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึง 2 ปี

2.ให้อาหารเสริมป้องกันโรคซาง

หากลูกไม่ค่อยกินนมหรือกินได้น้อย พ่อแม่ควรนำอาหารเสริมมาฝึกให้ลูกกินบ้าง แต่ควรให้เขากินให้ถูกตามช่วงวัยนะคะ เพื่อให้ได้โภชนาการที่ดีที่สุดและไม่เป็นอันตรายกับลูกน้อยนั่นเอง นอกจากอาหารเสริมแล้วในวัยที่เขาเริ่มกินข้าวได้ พ่อแม่ควรให้เขาได้กินอาหารตามโภชนาการที่ถูกต้องและพยายามเน้นผักผลไม้ให้มากๆ เพื่อให้เขามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและมีระบบขับถ่ายที่ดี

3.นิสัยการกินที่ดีเป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องกันโรคซาง

ลูกน้อยควรได้รับการฝึกนิสัยการกินที่ดี โดยพ่อแม่จะต้องฝึกให้เขากินอาหารตามเวลาและนั่งกินให้เรียบร้อยไม่กินไปเล่นไป เพราะเขาอาจจะห่วงเล่นจนไม่ยอมกินข้าวได้ และที่สำคัญก่อนถึงอาหารมื้อหลักพ่อแม่ไม่ควรให้ลูกกินนมหรือขนมเพราะจะทำให้เขากินอาหารมื้อหลักได้น้อย เป็นผลให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอนั่นเอง

4.กินวิตามินเสริมหรือใช้ยาป้องกันโรคซาง

การกินวิตามินเสริม แม้ทางการแพทย์ ไม่มีข้อห้าม แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของคุณหมอเป็นหลัก โดยเฉพาะการใช้ยากับเด็กเล็ก เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก ควรปรึกษาคุณหมอเป็นทางที่ดีกว่าแน่นอนค่ะ

5.ติดตามการขึ้นน้ำหนักตัวของลูกตามช่วงวัยเพื่อป้องโรคซาง

คุณแม่ควรติดตามการขึ้นของน้ำหนักตัวลูกในทุกๆ ช่วงวัย ดังนี้

  • เด็กอายุ 0 ถึง 3 เดือน น้ำหนักควรขึ้น2 6 ถึง 31 กรัม ต่อวัน
  • เด็กอายุ 3 ถึง 6 เดือน น้ำหนักควรขึ้น 17 ถึง 18 กรัมต่อวัน
  • เด็กอายุ 9 ถึง 12 เดือน   น้ำหนักควรขึ้น 12 ถึง 13 กรัมต่อวัน
  • เด็กอายุ 1 ถึง 3 ปี น้ำหนักควรขึ้น 7 ถึง 9 กรัมต่อวัน

การดูแลลูก ควรใส่ใจในทุกๆด้านโดยเฉพาะภาวะโภชนาการ เพราะเป็นต้นทุนสมองที่สำคัญ หากขาดหรือเกินไป อาจส่งผลต่อสุขภาพของลูกได้ รวมไปถึงพัฒนาการในทุกๆด้าน หากคุณแม่สงสัยในการเจริญเติบโตของลูก ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชียวชาญ

โรคซางรักษาหายหรือไม่ 

ความจริงแล้วซางไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรงอะไรมากนักแต่เป็นอาการที่เกิดจากการขาดสารอาหารของเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพราะการเลี้ยงดูที่ไม่ดีของพ่อแม่และเป็นเพราะการให้ลูกทานอาหารไม่ถูกตามหลักโภชนาการนั่นเอง โดยอาการของเด็กที่เรียกว่าเป็นซางนั้นเด็กจะเบื่ออาหาร กินน้อยและมีรูปร่างที่ผอมบางกว่าเด็กทั่วๆ ไปในวัยเดียวกัน ซึ่งหากพ่อแม่ไม่รีบแก้ปัญหาตั้งแต่เขายังเล็กๆ ก็จะทำให้เขากลายเป็นเด็กขาดสารอาหารและพัฒนาการช้าได้นั่นเอง แต่วิธีรักษาและป้องกันโรคซางในเด็กนั้นก็ไม่ยากเลย โดยไม่จำเป็นต้องฉีดยา หรือรักษาให้เจ็บตัว เพียงใช้ยาถ่ายพยาธิ ยาวิตามินต่างๆ และให้ลูกน้อยรับประทานอาหาร เช่น  เนื้อสัตว์ นมและไข่หรืออาหารประเภทโปรตีนให้มากขึ้น ก็จะช่วยไม่ให้เด็กขาดสารอาหาร ไม่เป็นโรคซางได้แล้วค่ะ

อย่างไรก็ตามภาวะโรคซางก็ยังเป็นอันตรายต่อเด็กเล็ก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องดูแลลูกให้เหมาะสม โดยในระยะช่วง 6 เดือนแรกลูกน้อยควรได้รับนมแม่ เพราะนมแม่มีสารอาหารที่ดีและสมบูรณ์ที่สุดแต่เมื่อลูกเติบโตขึ้นก็มีการใช้พลังงานไปกับกิจกรรมในแต่ละวัน คุณแม่จึงควรดูแลในเรื่องอาหารเสริมที่จำเป็นสำหรับลูก การสร้างนิสัยการกินที่ดี และการให้วิตามินหรือยาเสริมที่ถูกต้อง เพียงเท่านี้ลูกน้อยของคุณแม่ก็จะห่างไกลจากโรคซางแล้วค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1.อาหารเสริมตามวัย 6-24 เดือน

2.อาหารกับพัฒนาการลูก

3.อาหารสำคัญในการพัฒนาภูมิคุ้มกันลูก

เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team

อ้างอิง

หนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย.อาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ.รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.ซางที่มีความรุนแรงในเด็ก.เข้าถึงได้จาhttps://goo.gl/Wu41Gs .[ค้นคว้าเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2560].